Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

รู้จักกับโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) โรคหายากที่ทำให้ตาบอดชั่วคราว

พญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 12 กันยายน 2024
โรค VKH

โรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) เป็นโรคภูมิคุ้มกันที่อาจไม่คุ้นเคยนักในสังคมทั่วไป แต่เป็นโรคที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เนื่องจากโรคนี้สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อดวงตา ผิวหนัง หู และระบบประสาท การรับรู้ถึง VKH จึงมีความสำคัญ เพราะหากไม่ตรวจพบหรือรักษาแต่เนิ่น ๆ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นถาวรและมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หูอื้อ ต้อกระจก หรือต้อหินได้

ด้วยอาการที่หลากหลายตั้งแต่ตาอักเสบ ผื่นด่างขาว ไปจนถึงอาการปวดศีรษะและคอแข็ง VKH จึงเป็นโรคที่ควรได้รับการใส่ใจและติดตามอย่างใกล้ชิด การตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้จะช่วยให้ประชาชนสังเกตอาการและเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น และยังเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้อีกด้วย

สารบัญ

  • โรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) คืออะไร?
  • โรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) พบบ่อยแค่ไหน?
  • อาการของโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH)
  • สาเหตุของโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH)
  • การวินิจฉัยโรค Vogt-Koyanagi-Harada
  • การรักษาโรค Vogt-Koyanagi-Harada
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH)
  • คำแนะนำในการดูแลตัวเองและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  • สรุป

โรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) คืออะไร?

โรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเข้าโจมตีเซลล์เม็ดสีในร่างกายของตัวเอง (autoimmune response) โดยโรคนี้มีผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกาย ได้แก่ ดวงตา หู ผิวหนัง และระบบประสาท มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 20-50 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มคนเชื้อสายเอเชีย ตะวันออกกลาง ฮิสแปนิก และชนพื้นเมืองอเมริกัน

VKH เป็นโรคที่อันตรายโรคหนึ่ง เพราะส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกาย โดยเฉพาะระบบดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

> กลับสู่สารบัญ

โรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) พบบ่อยแค่ไหน?

จากสถิติ โรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) พบไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับโรคอักเสบจากระบบภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ โดยพบประมาณ 3-4% ของผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 

อย่างไรก็ตามโรคนี้พบมากในคนบางภูมิภาค เช่น เอเชีย ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีเชื้อสายเอเชีย ฮิสแปนิก ชาวตะวันออกกลาง และชนพื้นเมืองอเมริกัน ในขณะที่คนเชื้อสายผิวขาวและคนผิวดำในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารามีความเสี่ยงต่ำกว่า

โรคนี้มักพบในกลุ่มอายุ 20-50 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ในกลุ่มประชากรชาวญี่ปุ่นกลับพบในผู้ชายได้บ่อยกว่า โรคนี้พบได้ในผู้ใหญ่บ่อยกว่าในเด็ก แต่ก็มีรายงานพบในเด็กที่อายุน้อยสุดคือ 3 ปี และในผู้สูงอายุที่อายุมากคือ 89 ปี

และเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พบน้อย บางครั้งอาจทำให้ยากต่อการวินิจฉัย ทำให้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัย อาจส่งผลให้การวินิจฉัยล่าช้า ซึ่งมีผลต่อการรักษา

> กลับสู่สารบัญ

อาการของโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH)

อาการของโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) มีความหลากหลายและสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายระบบของร่างกาย โดยหลัก ๆ อาการจะแบ่งออกเป็น 4 ระบบหลัก ได้แก่ ดวงตา หู ผิวหนัง และระบบประสาท ดังนี้

1. อาการทางดวงตา

  • มีการอักเสบของดวงตาทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นอาการเด่นของโรคนี้
  • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด โดยเฉพาะบริเวณจุดรับภาพชัด (macula)
  • บางรายอาจเกิดอาการเห็นภาพซ้อน หรือมีจุดมืดในภาพที่มองเห็น
  • อาการอาจเป็นอยู่ชั่วคราว แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

2. อาการทางหู

  • สูญเสียการได้ยิน
  • ได้ยินเสียงวี๊ดหรือเสียงหวีดในหู (tinnitus)
  • เวียนศีรษะหรือรู้สึกเสียการทรงตัว

3. อาการทางผิวหนัง

  • ผื่นด่างขาว (vitiligo) อาจเกิดบนผิวหนัง โดยมักพบหลังจากดวงตาอักเสบ 2-3 เดือน
  • ผมร่วง รวมถึงขนคิ้วและขนตามร่างกาย
  • เปลี่ยนสีผิวเป็นสีขาวหรือสีเทาในบางบริเวณ

4. อาการทางระบบประสาทและสมอง

  • ปวดศีรษะ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย
  • คอแข็ง หรือรู้สึกตึงบริเวณคอ
  • มีไข้ คลื่นไส้ และอาเจียน

> กลับสู่สารบัญ

สาเหตุของโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH)

สาเหตุของโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าโรคนี้อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และเข้าโจมตีเซลล์เม็ดสีเมลานินในร่างกาย (autoimmune response) โดยเฉพาะบริเวณดวงตา ผิวหนัง และระบบประสาท นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค VKH ได้ เช่น

  1. พันธุกรรม: กลุ่มประชากรบางเชื้อชาติ เช่น ชาวเอเชีย ชาวตะวันออกกลาง ฮิสแปนิก และชนพื้นเมืองอเมริกัน อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเกิดโรค VKH มากกว่าคนในกลุ่มเชื้อชาติอื่น
  2. การติดเชื้อไวรัส: มีการคาดการณ์ว่าไวรัสบางชนิดอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไป และโจมตีเซลล์เม็ดสีในร่างกาย แล้วทำให้เกิดการอักเสบในหลาย ๆ ระบบ
  3. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม: ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสกับสารเคมีหรือมลภาวะ อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกายขึ้นได้

เนื่องจากสาเหตุของโรคยังไม่ชัดเจน แพทย์จึงมักจะใช้วิธีรักษาเพื่อควบคุมการอักเสบและบรรเทาอาการเป็นหลัก

> กลับสู่สารบัญ

การวินิจฉัยโรค Vogt-Koyanagi-Harada

การวินิจฉัยโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) ต้องอาศัยการตรวจอย่างละเอียดเพื่อแยกจากโรคอักเสบในดวงตาและระบบอื่น ๆ โดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย ร่วมกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจภาพถ่ายดวงตา โดยการวินิจฉัยจะเน้นที่อาการอักเสบของดวงตา หู ผิวหนัง และระบบประสาท โดยแพทย์อาจพิจารณาการตรวจ ดังนี้

1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย

  • ซักถามอาการต่าง ๆ เช่น อาการอักเสบของดวงตาทั้งสองข้าง อาการหูอื้อ สูญเสียการได้ยิน อาการผื่นด่างขาว และอาการปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะ
  • ตรวจดูบริเวณผิวหนังและเส้นผมว่ามีอาการผมร่วงหรือไม่ รวมถึงการตรวจบริเวณดวงตาเพื่อประเมินการมองเห็นและการอักเสบ

2. การตรวจตา

  • Ophthalmoscopy (การส่องตรวจตา): เพื่อตรวจดูจอประสาทตา จุดรับภาพชัด (macula) และเยื่อชั้นต่าง ๆ ในดวงตาว่ามีการอักเสบหรือไม่
  • Fluorescein Angiography: ตรวจการไหลเวียนของเลือดในจอประสาทตา เพื่อหาภาวะหลอดเลือดรั่วหรือการอักเสบที่จอประสาทตา
  • Optical Coherence Tomography (OCT): ตรวจการเปลี่ยนแปลงของชั้นเยื่อจอประสาทตา โดยเฉพาะที่จุดรับภาพชัด (macula) เพื่อดูการอักเสบหรือการบวมน้ำในดวงตา

3. การตรวจทางหูและระบบประสาท

  • ตรวจการได้ยินและการทรงตัว เพื่อหาความผิดปกติในหูชั้นใน
  • ตรวจระบบประสาท เช่น ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อ และตรวจหาอาการทางระบบประสาท เช่น การปวดศีรษะ อาการคอแข็ง หรือมีไข้ เพื่อประเมินความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับสมองและไขสันหลัง

4. การตรวจภาพสมอง (Brain Imaging)

  • การทำ MRI หรือ CT scan เพื่อดูการอักเสบในระบบประสาท โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสมองและเยื่อหุ้มสมอง

5. การตรวจเลือด

  • การตรวจเลือดบางอย่างอาจช่วยวินิจฉัยภาวะการอักเสบของร่างกาย รวมถึงการวิเคราะห์ค่าทางภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยระบุภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ

6. การวินิจฉัยแยกโรค

  • แพทย์จะพิจารณาโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้าย VKH เช่น โรคซาร์คอยโดสิส (sarcoidosis) โรคลูปัส (lupus) หรือการติดเชื้อบางชนิด เพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ใช่จากสาเหตุอื่น

การวินิจฉัยโรค VKH ต้องอาศัยการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ได้แก่ แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา แพทย์เฉพาะทางโรคภูมิคุ้มกัน และแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว

> กลับสู่สารบัญ

การรักษาโรค Vogt-Koyanagi-Harada

การรักษาโรค VKH จะเน้นการรักษาที่เป็นการควบคุมการอักเสบในหลายระบบของร่างกายเพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นและอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยมีการรักษาดังนี้

  • การใช้ยาสเตียรอยด์: สเตียรอยด์เป็นยาหลักในการลดการอักเสบ ทั้งแบบรับประทานและฉีด โดยจะเลือกตามความรุนแรงของอาการ เพื่อควบคุมการอักเสบในดวงตาและระบบอื่น ๆ ของร่างกาย
  • ยากดภูมิคุ้มกัน: แพทย์อาจพิจารณาใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น Methotrexate หรือ Azathioprine เมื่อต้องควบคุมการอักเสบอย่างต่อเนื่อง หรือในกรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้สเตียรอยด์ในปริมาณมากเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยลดการทำลายเซลล์เม็ดสีจากภูมิคุ้มกัน
  • ยาในกลุ่มชีววัตถุ (Biological DMARDs): ในกรณีที่การรักษาด้วยสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกันไม่ได้ผลดี แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาในกลุ่มชีววัตถุ เช่น Infliximab หรือ Adalimumab เพื่อยับยั้งสารก่อการอักเสบในร่างกาย และช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ
  • การรักษาเฉพาะทางเพิ่มเติม: สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้อกระจก หรือต้อหิน แพทย์อาจใช้การผ่าตัดและยาหยอดตาเฉพาะทาง รวมถึงการใช้เครื่องช่วยฟังในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการได้ยิน
  • การติดตามอาการ: ควรพบแพทย์ตรวจดวงตาและระบบภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามการรักษา ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และจัดการกับอาการใหม่ที่อาจเกิดขึ้น

> กลับสู่สารบัญ

ภาวะแทรกซ้อนของโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH)

โรค VKH อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดวงตาและระบบอื่น ๆ หากการอักเสบไม่ได้รับการควบคุม อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. สูญเสียการมองเห็นถาวร: การอักเสบในดวงตาอาจเกิดขึ้นบริเวณจุดรับภาพชัด (macula) ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการมองเห็นได้ชัดเจน หากการอักเสบไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
  2. จอตาลอก: การอักเสบที่เกิดจากโรค VKH สามารถทำให้เกิดภาวะจอตาลอก (retinal detachment) ซึ่งมีผลต่อการมองเห็นและเป็นภาวะที่ต้องรักษาโดยเร็ว
  3. ต้อหิน (Glaucoma): การอักเสบเรื้อรังในดวงตาอาจเพิ่มแรงดันในลูกตา ทำให้เกิดต้อหิน ซึ่งจะทำให้การมองเห็นลดลงและอาจสูญเสียการมองเห็นถาวร
  4. ต้อกระจก (Cataract): การใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะยาวเพื่อควบคุมการอักเสบอาจทำให้เกิดต้อกระจกได้
  5. อาการหูอื้อและสูญเสียการได้ยิน: โรค VKH อาจทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินชั่วคราวหรือถาวร รวมถึงอาจได้ยินเสียงวี๊ดในหูและเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบที่ของระบบหู
  6. อาการทางระบบประสาท: ภาวะอักเสบอาจทำให้เกิดปวดศีรษะ คอแข็ง คลื่นไส้ หรืออาการคล้ายเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่ความผิดปกติของระบบประสาทอื่น ๆ ได้
  7. ผื่นด่างขาวและผมร่วง: ผู้ป่วย VKH อาจเกิดภาวะผิวด่างขาว (Vitiligo) หลังจากการอักเสบในดวงตา นอกจากนี้อาการผมร่วงหรือสีผิวเปลี่ยนเป็นซีดขาวก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

การติดตามอาการและการรักษาต่อเนื่องโดยทีมแพทย์เฉพาะทางเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้

> กลับสู่สารบัญ

คำแนะนำในการดูแลตัวเองและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

  • เข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาและอาการอื่น ๆ เป็นประจำ เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามอาการและปรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อาจกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เช่น การติดเชื้อไวรัส
  • รักษาสุขภาพจิตและพักผ่อนอย่างเพียงพอ เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

> กลับสู่สารบัญ

สรุป

โรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของหลายระบบ ส่งผลต่อดวงตา ผิวหนัง หู และระบบประสาท เป็นโรคที่พบได้น้อย ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่าเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติในผู้ที่มีพันธุกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มคนเชื้อสายเอเชีย ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และชาวพื้นเมืองอเมริกัน โรคนี้มีอาการหลากหลาย เช่น ตาอักเสบ หูอื้อ ผิวหนังเป็นรอยด่างขาว และอาการทางสมอง

การรักษา VKH จะเน้นที่การลดการอักเสบ มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น การสูญเสียการมองเห็น ต้อกระจก และต้อหิน ทำให้การติดตามอาการและการรักษาต่อเนื่องเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจตรวจสุขภาพตาเด็ก อายุ 4 – 15 ปี (Pediatric Eye Examination)

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจสุขภาพตา Eye Examination

รายละเอียด

ตรวจสุขภาพตาแบบพรีเมียม (Eye Screening Premium)

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจคัดกรองต้อหิน

รายละเอียด

โปรแกรมผ่าตัดต้อหิน

รายละเอียด

โปรแกรมผ่าตัดสลายต้อกระจกและใส่เลนส์ตาเทียม (เบิกจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลาง)

รายละเอียด

โปรแกรมผ่าตัดต้อกระจก

รายละเอียด

โปรแกรมผ่าตัดต้อเนื้อ

รายละเอียด

> กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

พญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ

พญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ

ศูนย์จักษุ

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

ศูนย์จักษุ_1-1

ศูนย์จักษุ

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา