Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

“น้ำตาลในเลือดต่ำ”…ภาวะอันตรายในผู้ป่วยเบาหวาน

พญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 1 กุมภาพันธ์ 2024
น้ำตาลในเลือดต่ำ

หากพูดถึงโรคเบาหวานกับระดับน้ำตาลในเลือด เราคงจะนึกถึงน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ เพราะหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานก็มาจากการตรวจพบน้ำตาลในเลือดสูง แต่ผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้มีปัญหาเฉพาะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเพียงอย่างเดียว แต่สามารถพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกด้วย โดยจะพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวานได้บ่อยกว่าคนทั่วไปซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่ตัวผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิดต้องคอยเฝ้าระวัง เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจกลายเป็นเรื่องร้ายแรงได้หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที 

สารบัญ

  • น้ำตาลในเลือดต่ำคืออะไร?
  • น้ำตาลในเลือดต่ำเกิดจากอะไร?
  • น้ำตาลในเลือดต่ำในคนปกติ 
  • น้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน
  • น้ำตาลในเลือดต่ำอันตรายไหม?
  • อาการของน้ำตาลในเลือดต่ำ 
  • การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
  • การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 
  • สรุป

น้ำตาลในเลือดต่ำคืออะไร?

น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายและอวัยวะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองและระบบประสาท น้ำตาลที่ร่างกายได้รับโดยส่วนใหญ่มาจากคาร์โบไฮเดรตในอาหารและเครื่องดื่มที่เราบริโภคเข้าไป จากนั้นน้ำตาลจะถูกส่งเข้าไปในเลือดเพื่อเดินทางไปยังทุกเซลล์ของร่างกายเพื่อให้เซลล์นำไปใช้เป็นพลังงาน น้ำตาลยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมอง ดังนั้นน้ำตาลในเลือดจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของสมอง โดยระดับน้ำตาลในเลือดปกติหลังการงดน้ำงดอาหารจะมีค่าอยู่ในช่วง 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (3.9 mmol/L) – 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (5.6 mmol/L)

“ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ” หรือภาวะ hypoglycemia เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่าขั้นต่ำของช่วงปกติ

> กลับสู่สารบัญ

น้ำตาลในเลือดต่ำเกิดจากอะไร?

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลกันของกลไกควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมดุลของ 2 ภาวะ คือ  

  1. การเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของอาหารที่รับประทาน การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ การหลั่งฮอร์โมนที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และการทำงานของตับ เป็นต้น
  2. การลดลงของน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะขึ้นอยู่ปริมาณยาเบาหวานที่ได้รับ ทั้งยารับประทานและยาฉีดอินซูลิน กิจกรรมและการใช้พลังงานในวันนั้น รวมไปถึงภาวะการเจ็บป่วยอื่น ๆ

ซึ่งในคนปกติร่างกายจะสามารถปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ แต่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะเกิดขึ้นเมื่อสมดุลของการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดเสียไป ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน โดยปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่

  • ได้รับยารักษาเบาหวานที่ไม่เหมาะสม ทั้งชนิดของยา ขนาดของยา และเวลาการได้รับยาที่ไม่เหมาะสม 
  • รับประทานอาหารน้อยเกินไปจนได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ มื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนเวลาออกไปจากเวลาปกติ หรืออาจมีการปรับองค์ประกอบของอาหารจนทำให้ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับลดลง
  • ร่างกายมีการใช้น้ำตาลที่เพิ่มขึ้น เช่น มีการออกกำลังกายมากขึ้น
  • ตับทำงานได้ลดลง ทำให้การผลิตน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลง ซึ่งสามารถพบได้ในภาวะต่าง ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ โรคตับแข็ง 
  • ต่อมหมวกไตทำงานลดลง ทำให้การผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • ร่างกายมีความไวต่ออินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งพบได้ในภาวะน้ำหนักตัวลดลง ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • ร่างกายมีความสามารถในการกำจัดอินซูลินหรือยารักษาเบาหวานลดลง เช่น ในภาวะไตหรือตับเสื่อม
  • ผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมากขึ้น
  • ผู้ป่วยมีการควบคุมเบาหวานที่เข้มงวดเกินไป คือกำหนดเป้าหมายระดับ HbA1c และระดับน้ำตาลในเลือดเท่าคนปกติ
  • มีประวัติภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในระดับรุนแรง
  • มีประวัติภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยไม่มีอาการเตือนมาก่อน

> กลับสู่สารบัญ

น้ำตาลในเลือดต่ำในคนปกติ

คนทั่วไปเมื่ออดอาหาร น้ำตาลในเลือดลดลง ร่างกายจะมีกลไกเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด โดยผ่านทางระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมน เช่น เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนที่มีฤทธิ์ให้เกิดการสลายไกลโคเจนที่สะสมอยู่ที่ตับให้กลายเป็นน้ำตาลส่งเข้าสู่กระแสเลือด และเพิ่มการใช้พลังงานจากไขมันที่สะสมไว้ เป็นต้น จึงทำให้สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นและกลับมาอยู่ในช่วงปกติได้

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่เป็นเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักจะเกิดขึ้นที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

> กลับสู่สารบัญ

น้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

เบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากกลไกที่การลดน้ำตาลในเลือดทำงานได้แย่ลง ร่างกายมีปัญหาในการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน จึงทำให้น้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยสูงลอย และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว 

ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องได้รับยารักษาเบาหวาน ซึ่งจะไปทำหน้าที่ลดน้ำตาลในเลือดทดแทนกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย อย่างไรก็ตามการใช้ยาบางตัวอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ และจะพบได้มากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่พยายามควบคุมระดับน้ำตาลมากเกินไป เมื่อรับประทานอาหารน้อย รับประทานผิดเวลา มีการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกายมากขึ้น จึงทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมาได้ 

เนื่องจากโรคเบาหวานทำให้กลไกตอบสนองเพื่อให้มีการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือดเกิดขึ้นได้ช้า ทำให้เมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงใช้เวลานานกว่าร่างกายจะตอบสนองให้มีการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดจนอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นได้ จนอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานและผู้ใกล้ชิดจึงควรมีความรู้และความเข้าใจกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพื่อให้สามารถสังเกตความผิดปกติ และแก้ไขได้อย่างทันท่วงที 

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวานโดยทั่วไปจะหมายถึง การมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ยาเบาหวานกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยเบาหวานแต่ละรายจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและยาเบาหวานที่ได้รับ คือ

  1. ผู้ป่วยเบาหวานระยะเริ่มต้นที่ได้รับการรักษาโดยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย โดยไม่มีการใช้ยาเบาหวานจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  2. ยาเบาหวานที่ไม่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แม้จะใช้รวมกันหลายตัวก็มักไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่
    • Metformin (ชื่อการค้า Glucophage)
    • Pioglitazone (ชื่อการค้า Actos)
    • Sitagliptin (ชื่อการค้า Januvia), vildagliptin (ชื่อการค้า Galvus)
    • Acarbose (ชื่อการค้า Glucobay), voglibose (ชื่อการค้า Basen)
  3. ยาเบาหวานที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่
    • ยากลุ่ม sulfonyluria ได้แก่ 
      • Glibenclamide (ชื่อการค้า Daonil)
      • Glipizide (ชื่อการค้า Minidiab)
      • Glimepiride (ชื่อการค้า Amaryl)
      • Gliclazide (ชื่อการค้า Diamicron)
    • ยากลุ่ม meglitinide เช่น repaglinide (ชื่อการค้า Novonorm)
    • ยาฉีดอินซูลินทุกชนิด

> กลับสู่สารบัญ

น้ำตาลในเลือดต่ำอันตรายไหม?

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นภาวะที่อันตราย หากปล่อยไว้อาจทำให้ผู้ป่วย ช็อก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำต้องได้รับการแก้ไขทันที

> กลับสู่สารบัญ

อาการของน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีทั้งอาการที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้น และอาการจากสมองขาดน้ำตาล อาการที่พบได้ เช่น 

  • ตัวสั่น มือสั่น 
  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ 
  • กระสับกระส่าย เหงื่อแตก 
  • หิว ตามัว หน้าซีด อารมณ์เปลี่ยนแปลงฉับพลัน หงุดหงิด เศร้า โมโหโดยไม่มีสาเหตุ 
  • เซื่องซึม สับสน ไม่มีสมาธิ 
  • ชาบริเวณรอบปาก 
  • เป็นลม ชัก หมดสติ

ในกรณีที่มีเครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ควรเจาะน้ำตาลที่ปลายนิ้วทันทีเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยหากพบว่า ค่าน้ำตาลน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือหน้าจอแสดงผลขึ้นว่า Lo แสดงว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ หากไม่สามารถเจาะน้ำตาลได้ทันที แต่มีอาการข้างต้นชัดเจนก็ควรรักษาโดยการแก้ไขเบื้องต้น

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะนอนหลับ

ผู้ป่วยเบาหวานอาจพบภาวะน้ำตาลต่ำได้ในขณะนอนหลับได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากการลดปริมาณอาหารมื้อเย็น หรือออกกำลังกายอย่างหนัก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะนอนหลับนั้นอันตรายกว่าน้ำตาลต่ำตอนตื่นปกติ เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว ทำให้ตื่นมาแก้ไขไม่ทัน และระดับน้ำตาลอาจต่ำรุนแรงได้ ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดจึงควรสังเกตอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะนอนหลับโดยมักมีอาการ ดังนี้

  • ชุดนอนเปียกเหงื่อ
  • ปวดศีรษะเมื่อตื่นนอน
  • ฝันร้าย
  • รู้สึกนอนไม่อิ่ม นอนไม่พอ รู้สึกยังเพลียเหมือนไม่ได้พักผ่อน 

หากผู้ป่วยมีอาการข้างต้น ควรทำตามข้อแนะนำ ดังนี้

  1. ตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว ในช่วงเวลา 02.00-03.00 น. หากค่าน้ำตาลน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้ทำการแก้ไขเบื้องต้น และปรึกษาแพทย์
  2. ในวันที่มีกิจกรรมมากเป็นพิเศษ ควรเพิ่มการตรวจน้ำตาลปลายนิ้วในช่วงเที่ยงคืน

> กลับสู่สารบัญ

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำต้องได้รับการแก้ไขทันที โดยการรับประทานคาร์โบไฮเดรต ไม่ว่าจะเป็นในรูปของอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงจนน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง โดยการแก้ไขอย่างถูกต้องมีความสำคัญมาก เพราะหากแก้ไขไม่ถูกต้อง รับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาจทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นอันตรายได้

สำหรับผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัวและช่วยเหลือตนเองได้ การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ คือการให้รับประทานคาร์โบไฮเดรต และการตรวจวัดระดับน้ำตาลอย่างถูกต้อง ดังนี้ 

  1. ทำตามกฎ 15-15 คือรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว 15 กรัม แล้วรอ 15 นาทีจึงเจาะวัดน้ำตาลปลายนิ้ว ถ้าน้ำตาลในเลือดยังต่ำอยู่ ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตเพิ่มอีก 15 กรัม จนกว่าค่าน้ำตาลจะมากกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    ตัวอย่างอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็วที่ปริมาณ 15 กรัม (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)
    – ลูกอม 3 เม็ด หรือ
    – น้ำผลไม้ 120-180 ซีซี หรือ
    – น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ หรือ
    – น้ำผึ้งหรือน้ำหวานเฮลซ์บลูบอย 1 ช้อนโต๊ะ 

  2. กรณีเป็นก่อนมื้ออาหาร ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารในทันที 
  3. หากเป็นระหว่างมื้ออาหาร ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมช้า 15 กรัม โดยตัวอย่างอาหาร (เลือกรับประทานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง) เช่น 
    – ขนมปัง 1 แผ่น หรือ
    – กล้วยหรือแอปเปิล 1 ลูก หรือ
    – โยเกิร์ต 200 กรัม หรือ
    – นมจืด 1 กล่อง หรือ
    – ข้าวต้ม หรือโจ๊กครึ่งถ้วย

โดยมีข้อควรระวังคือ

  • บ่อยครั้งผู้ป่วยมักรับประทานน้ำตาลมากเกินไป เนื่องจากอาการน้ำตาลต่ำไม่ได้ดีขึ้นในทันที และไม่ทราบว่าต้องรอให้คาร์โบไฮเดรตย่อยและดูดซึมเข้ากระแสเลือดก่อนที่จะวัดน้ำตาลปลายนิ้ว การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงมาก จึงเป็นที่มาของกฎ 15-15 ที่ให้รอประเมินค่าน้ำตาลที่ 15 นาทีหลังจากรับประทานคาร์โบไฮเดรตไปแล้ว 15 กรัม
  • ของหวานที่มีไขมันสูง เช่น ช็อกโกแลต คุ้กกี้ เค้ก เป็นต้น ใช้แก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำไม่ได้เพราะไขมันจะทำให้ดูดซึมน้ำตาลได้ช้าลง 

> กลับสู่สารบัญ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำสามารถทำได้โดยการหาสาเหตุและปรับแก้ที่สาเหตุนั้น โดยแนะนำให้มีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้

  • ปริมาณยาเบาหวาน ทั้งยารับประทานและยาฉีดอินซูลิน 
  • ปริมาณและชนิดอาหารที่รับประทานก่อนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 
  • กิจกรรมที่ทำ การออกกำลังกาย 
  • ภาวะการเจ็บป่วยทั้งหมด 

แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ว่าปัจจัยใดเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากพบว่าอาหารที่ได้รับและกิจกรรมที่ทำทุกอย่างเป็นปกติดี ไม่มีการเจ็บป่วยอื่น สาเหตุอาจเกิดจากขนาดยาเบาหวานที่ไม่เหมาะสม จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับการรับประทานยาต่อไป 

ข้อควรระวังที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ ผู้ป่วยไม่ควรปรับยาด้วยตนเอง เพราะหากผู้ป่วยหยุดฉีดอินซูลินทันทีในมื้อที่มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้น้ำตาลขึ้นสูงมากในมื้อถัดไป หรือในทางกลับกัน หากผู้ป่วยฉีดยาอินซูลินแล้วพบอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แล้วไม่มีการปรึกษาแพทย์ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และมาตรวจตามนัด และต้องมีการพูดคุยปรึกษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด 

หรือในผู้ป่วยเบาหวานรายที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย ๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ติดเครื่องตรวจน้ำตาลต่อเนื่อง (continuous glucose monitoring; CGM) ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามระดับน้ำตาลในเลือดได้ตลอดระยะเวลาที่ติดเครื่อง เพื่อที่แพทย์จะนำข้อมูลน้ำตาลในเลือดมาใช้ในการวางแผนการรักษาให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเป้าหมายมากขึ้น

> กลับสู่สารบัญ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการหมดสติ หรือหากยังรู้สึกตัว แต่พูดช้าลง มึนงง สับสน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ อาการเหล่านี้จัดเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์โดยทันที โดยมีคำแนะนำดังนี้

  • โทรตามรถพยาบาล หรือรีบนำส่งห้องฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด
  • ห้ามให้น้ำหวานหรือลูกอมเนื่องจากอาจทำให้สำลักเข้าหลอดลม
  • ห้ามใส่มือหรือช้อนเข้าไปในปาก

> กลับสู่สารบัญ

การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยกลูคากอนเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด การให้น้ำตาลทางหลอดเลือดดำ การติดตามระดับน้ำตาลในเลือด สัญญาณชีพ และอาการทางสมองอย่างใกล้ชิด

> กลับสู่สารบัญ

สรุป

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แม้พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากทุกครั้งที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีผลเสียต่อหัวใจและสมอง อีกทั้งหากปล่อยให้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นซ้ำบ่อยครั้ง อาการเตือนทางระบบประสาทอัตโนมัติจะลดลง และจะพบอาการทางสมองที่รุนแรงขึ้น เช่น เซื่องซึม สับสน ชัก และหมดสติ ดังนั้นหากมีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจึงควรใส่ใจหาสาเหตุ และปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตามการป้องกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และการดูแลสุขภาพ การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

สนใจนัดหมาย

> กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

พญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร

พญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิค_1-1

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา