Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

High altitude illness หรือภาวะแพ้ที่สูง ที่นักปีนเขาต้องระวัง !

พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 25 พฤศจิกายน 2022
High-altitude illness-ภาวะแพ้ที่สูง

ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวไทยนิยมการท่องเที่ยวในที่สูงมากขึ้น เช่น การไปเดินเขา หรือ trekking ตามยอดเขาสูงต่าง ๆ เช่น เอเวอร์เรสในประเทศเนปาล  คิลิมันจาโรในประเทศแทนซาเนีย  การไปเที่ยวเมืองเลห์ ลาดัก ประเทศอินเดีย เมืองคุซโก้ มาชูปิกชู แหล่งอารยธรรมโบราณของชาวอินคา ประเทศเปรู เป็นต้น

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวหญิงไทย 2 รายที่ไป trekking ที่เทือกเขาอันนะปุรณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด แต่การไป trekking ในที่สูงในสภาพอากาศหนาวอุณหภูมิติดลบเช่นในกรณีนี้ อาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ซึ่งสาเหตุที่เป็นไปได้ อาจเป็นจากภาวะแพ้ที่สูง หรือ High-altitude illness หรือจากสภาวะอากาศที่หนาวจัดจนเกิดภาวะ อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ หรือ Hypothermia

ในบทความนี้จะพูดถึง ภาวะแพ้ที่สูง และ การบาดเจ็บจากความเย็น ได้แก่ ภาวะ hypothermia ซึ่งเป็นสองภาวะที่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยที่สำคัญและนำไปสู่การเสียชีวิตสำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในที่สูง นอกจากนี้ ยังขอกล่าวถึงการบาดเจ็บจากหิมะกัด (Frostbite) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเดินทางไปที่สูงในสภาวะที่อุณหภูมิหนาวจัดควรทราบ ผู้ที่จะเดินทางขึ้นที่สูงควรมีความรู้ ทราบถึงอาการ การป้องกัน และการรักษาเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิต

New call-to-action

ภาวะแพ้ที่สูง (High-altitude illness)

คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่มีออกซิเจนต่ำได้ ทำให้เกิดอาการจากการขาดออกซิเจน อาการมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน  อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร (Acute mountain sickness หรือ AMS) จนกระทั่งอาการรุนแรง ได้แก่ อาการสมองบวม ( High altitude cerebral edema หรือ HACE) ซึ่งจะมีอาการสับสน เดินเซ ซึม หรือ อาการปอดบวม ( High altitude pulmonary edema หรือ HAPE)  ซึ่งจะมีอาการ เหนื่อย  ไอเสมหะสีชมพู อาการรุนแรงเหล่านี้นำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในเวลา 24 ชม.

อาการแพ้ที่สูงจะเกิดได้ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 2500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยิ่งสูงมากความดันออกซิเจนในบรรยากาศยิ่งลดลง เช่น

  • ที่ระดับความสูง 3000 เมตร ระดับออกซิเจนในบรรยากาศจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของระดับน้ำทะเล
  • ที่ระดับความสูง 4000 เมตร ระดับออกซิเจนในบรรยากาศจะอยู่ที่ประมาณ 60% ของระดับน้ำทะเล
  • ที่ระดับความสูง 5000 เมตร ระดับออกซิเจนในบรรยากาศจะอยู่ที่ประมาณ 50% จากระดับน้ำทะเล
  • ที่ระดับความสูง 8000 เมตร เรียกว่า Dead zone ระดับออกซิเจนในบรรยากาศเหลือเพียงแค่ 30% ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ดังนั้น ยิ่งอยู่ที่สูงมาก โอกาสเกิดอาการยิ่งมากขึ้นและรุนแรง หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน

กลไกการปรับตัวของร่างกาย

เมื่อเราอยู่ในที่สูงซึ่งความดันของออกซิเจนในบรรยากาศน้อย ร่างกายจะปรับตัวเพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น เช่น อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น หัวใจบีบตัวแรงขึ้น ไตขับด่างออกจากปัสสาวะมากขึ้นเพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลา 3-5 วัน กว่าที่ร่างกายจะปรับตัวได้ ดังนั้นหากร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวในภาวะออกซิเจนต่ำได้ ก็จะเกิดอาการต่างๆ ซึ่งเป็นอาการแพ้ที่สูง

ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะแพ้ที่สูง

ภาวะแพ้ที่สูงนั้นเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ขึ้นกับอายุและความฟิตของร่างกาย กล่าวคือ คนที่มีความฟิตร่างกายเยอะเช่นนักกีฬาก็อาจจะมีโอกาสเกิดอาการแพ้ที่สูงได้ไม่ต่างกับคนที่มีความฟิตน้อย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวได้เร็วหรือช้าของแต่ละคนอาจเนื่องมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งที่หนึ่งที่จะช่วยพยากรณ์ได้ว่าใครจะมีโอกาสเกิดอาการแพ้ที่สูงได้หรือไม่อาจดูจากประวัติแพ้ที่สูงในการเดินทางก่อนหน้านี้ หากมีประวัติแพ้ที่สูงมาก่อน การเดินทางขึ้นที่สูงครั้งต่อไปในระดับความสูงเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นได้อีก

ปัจจัยที่มีผลต่อการแพ้ที่สูงได้แก่

  • พันธุกรรม
  • ประวัติแพ้ที่สูงก่อนหน้านี้
  • อัตราการเปลี่ยนแปลงความสูง ถ้ายิ่งมีการเปลี่ยนแปลงความสูงเร็ว ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ก็จะมีโอกาสเกิดอาการแพ้ที่สูงได้มากขึ้น เช่น เดินทางขึ้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ไปยังระดับ 3500 เมตรในหนึ่งวัน ก็จะมีโอกาสเกิดอาการมากกว่าผู้ที่ขึ้นที่สูงไประดับ 3000 เมตรในหนึ่งวัน หรือระหว่างขึ้นที่สูงหากอัตราการเปลี่ยนแปลงความสูงแต่ละวันมากก็จะมีโอกาสเกิดอาการมากกว่าการค่อย ๆ เปลี่ยนความสูง
  • โรคประจำตัวที่มีผลต่อการหายใจ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง โรคปอดเรื้อรังที่มีผลต่อการแลกเปลี่ยนแก๊ส เช่น ปอดอุดกันเรื้อรัง(COPD) ความดันในปอดสูง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • การรับประทานยาที่กดการหายใจ เช่น ยานอนหลับ
  • การดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดการหายใจ

อาการแพ้ที่สูงแบ่งได้เป็น

อาการไม่รุนแรง (Acute mountain sickness หรือ AMS)

ได้แก่อาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาการจะเกิดขึ้นภายใน 2-12 ชม.หลังจากขึ้นที่สูง โดยมักจะมีอาการตอนกลางคืนของวันแรกและอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองหลัง 48 ชม.ไปแล้ว

อาการรุนแรง ได้แก่

  1. High altitude cerebral edema หรือ HACE คืออาการสมองบวม เป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก AMS โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการขึ้นที่สูงมากขึ้นโดยที่อาการ AMS ยังไม่ดีขึ้น โดยจะมีอาการปวดศีรษะมากขึ้น อ่อนเพลียมากขึ้น สับสน เดินเซ จนกระทั่ง ซึมลง และเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชม. หากไม่นำผู้ป่วยลงมาจากที่สูง
  2. High altitude pulmonary edema หรือ HAPE จะเกิดขึ้นภายใน 2-4 วันหลังจากขึ้นที่สูง โดยอาการแรกคืออาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ไอแห้ง ๆ จากนั้นจะไอมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้นแม้ขณะอยู่เฉย ๆ ไอเสมหะเป็นฟองสีชมพู และเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ภาวะ HAPE นี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดจากภาวะแพ้ที่สูง

การรักษาภาวะแพ้ที่สูง

  1. หากมีอาการยังไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ (AMS) และไม่สามารถลงมาจากที่สูงได้ ให้นอนพัก เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด จนกว่าอาการจะดีขึ้นจึงจะสามารถเดินทางขึ้นไปต่อได้ ส่วนมากอาการจะดีขึ้นใน 24-48 ชม. หากยังฝืนเดินขึ้นที่สูงต่อจะทำให้อาการแย่ลง
  2. รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน เพื่อบรรเทาอาการ อาจรับประทานยา Acetazolamide 250 มิลลิกรัม 1 เม็ดทุก 12 ชม. เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้เร็วขึ้น หากอาการ AMS รุนแรง อาจใช้ยา Dexamethasone รับประทานหรือฉีด อย่างไรก็ตามการนำยาไปรับประทานควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  3. หากอาการไม่ดีขึ้นและยังลงมาจากที่สูงไม่ได้ ให้หาสถานพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับออกซิเจนสูดดมต่อเนื่องก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่หากไม่มีสถานพยาบาลใกล้เคียงให้ลงจากที่สูง ไม่ฝืนเดินทางต่อ
  4. การรักษาภาวะ HACE : หากยังไม่สามารถลงจากที่สูงได้และมีสถานพยาบาลใกล้เคียงสามารถรักษาเบื้องต้นโดยการให้ออกซิเจนต่อเนื่องและยา Dexamethasone ได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออยู่ในที่ที่ไม่มีสถานพยาบาลให้รีบลงมาจากที่สูง
  5. การรักษาภาวะ HAPE : เนื่องจากเป็นภาวะที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้รวดเร็ว ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยภาวะนี้ ควรรีบลงมาจากที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการรุนแรง ได้แก่ เหนื่อยขณะพัก หากยังไม่สามารถลงจากที่สูงได้ให้รีบหาสถานพยาบาลเพื่อรับออกซิเจนแบบสูดดมต่อเนื่องระหว่างรอการเคลื่อนย้าย
New call-to-action

การใช้ยาป้องกันที่สูง

กรณีที่ต้องขึ้นที่สูงในระยะเวลาอันสั้น เช่นขึ้นที่สูงเกิน 3000 เมตร โดยไม่มีเวลาในการปรับตัว อาจรับประทานยาป้องกันที่สูง โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อน ถึงข้อบ่งชี้ การรับประทานยา และผลข้างเคียง ได้แก่

  • ยา Acetazolamide ช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับสภาวะออกซิเจนต่ำได้เร็วขึ้น โดยรับประทานครั้งละ 125 มิลลิกรัม (ครึ่งเม็ด) ทุก 12 ชม. ก่อนขึ้นที่สูง 24 ชม.
  • ยา Dexamethasone ทาน 2 มิลลิกรัมทุก 6 ชม. หรือ 4 มิลลิกรัมทุก 12 ชม. ใช้เป็นทางเลือกกรณีมีข้อห้ามในการใช้ยา Acetazolamide เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก

คำแนะนำการป้องกันภาวะแพ้ที่สูง

สิ่งสำคัญของการเตรียมตัวเพื่อป้องกันภาวะแพ้ที่สูงอาจไม่ใช่เพื่อป้องกันอาการเล็กน้อย (Acute mountain sickness) เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้แม้มีการเตรียมตัวอย่างดีแล้ว แต่เป็นการป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากภาวะแพ้ที่สูง จึงควรต้องมีความรู้และการเตรียมตัวที่ดีก่อนการเดินทาง

  • ศึกษาเส้นทางการเดินให้ดี วางแผนการเดินทางว่าจะใช้เวลากี่วัน หยุดพักที่ไหนบ้าง เพื่อให้อัตราการขึ้นไม่เร็วจนเกินไปจนเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแพ้ที่สูง
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทางเรื่องการเตรียมตัว การรับประทานยาป้องกันที่สูง การรักษาอาการแพ้ที่สูงเบื้องต้น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสภาวะความพร้อมของร่างกายก่อนเดินทาง
  • เมื่ออยู่บนที่สูงให้พยายามเดินช้า ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักหรือมีกิจกรรมทางกายมากในวันแรกของการขึ้นที่สูง เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ที่สูง
  • ก่อนเดินทางขึ้นที่สูงมากกว่า 3000 เมตรในวันแรก ควรมีเวลาได้นอนบนที่สูง 2500-3000 เมตร อย่างน้อย 1 คืนก่อนที่จะขึ้นที่สูง จะช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้
  • หากขึ้นที่สูงเกิน 3000 เมตร ไม่ควรเปลี่ยนความสูงมากกว่า 500 เมตรต่อวัน และทุก ๆ 1000 เมตร ควรได้นอนพักบนความสูงนั้นอย่างน้อย 2 วันจึงจะเดินทางขึ้นไปต่อ
  • การเดินขึ้นที่สูงมากขึ้นในตอนกลางวันและกลับลงมาที่ต่ำกว่าในตอนกลางคืน จะช่วยให้การปรับตัวดีขึ้น
  • หมั่นสังเกตอาการแพ้ที่สูง หากมีอาการที่สงสัยแม้เล็กน้อย ก็ควรหยุดพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ควรฝืนเดินทางต่อเพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น หากพักแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้ลงมาจากที่สูง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยานอนหลับในขณะขึ้นที่สูงเพราะจะกดการหายใจ
  • ควรทำประกันการเดินทางที่ครอบคลุมการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินโดยครอบคลุมการเคลื่อนย้ายทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์หากมีอาการรุนแรงขณะอยู่บนที่สูง

การบาดเจ็บจากความเย็น (Cold injury)

1.ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia)

คือสภาวะที่อุณหภูมิร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของระดับความรู้สึกตัว โคม่าและเสียชีวิตได้

เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในที่ที่อุณหภูมิต่ำเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุณหภูมิติดลบก็ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่นการแช่อยู่ในน้ำอุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน หรือปัจจัยอื่นร่วมด้วยเช่น ลม ความชื้นเช่นการสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียก แม้ในอากาศที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ก็ทำให้เกิด hypothermia ได้

อาการ

มีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย คือ อุณหภูมิร่างกาย 35-32 องศาเซลเซียส จะมีอาการหนาวสั่น สับสน พูดไม่ชัด จนกระทั่งอาการรุนแรงคืออุณหภูมิต่ำว่า 32 องศาเซลเซียส ซึ่งระบบการควบคุมอุณภูมิของร่างกายจะเสียไป ไม่มีอาการสั่น ไม่รู้สึกตัว หัวใจเต้นช้า หรืออาจหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉิน ควรรีบนำผู้ป่วยไปรักษาในสถานพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด ระหว่างรอการนำส่งรพ.ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังนี้

  • รีบนำผู้ป่วยเข้าไปในห้องหรือที่กำบังที่อุ่น และแห้ง
  • ถอดเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มต่างๆที่เปียกออก เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้ง
  • ทำให้ร่างกายอุ่น โดยห่มด้วยผ้าห่มหรือถุงนอนคลุม โดยต้องเป็นผ้าที่แห้ง
  • ดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยให้ร่างกายอุ่นหากยังมีสติอยู่ ระหว่างรอนำผู้ป่วยส่งรพ.

2.การบาดเจ็บจากหิมะกัด (Frostbite)

เกิดจากการที่เนื้อเยื่อร่างกายสัมผัสกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส จนทำให้เกิดเป็นผลึกน้ำแข็งในเซลล์ เกิดการทำลายเซลล์ ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บ ถูกทำลาย นำไปสู่เนื้อเยื่อตาย ซึ่งอาจต้องผ่าตัดอวัยวะส่วนที่บาดเจ็บทิ้ง นำไปสู่การสูญเสียอวัยวะถาวร

บริเวณที่เกิดหิมะกัดจะเป็นบริเวณอวัยวะส่วนปลายที่เลือดไปเลี้ยงน้อย เช่น ปลายมือ ปลาเท้า จมูก ใบหู แก้ม คาง

ความรุนแรงของอาการหิมะกัดแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความลึกของชั้นผิวหนังและเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ

  • ระดับที่ 1 บาดเจ็บบริเวณชั้นหนังกำพร้า มีอาการแดง บวม ปวด ชา เนื้อเยื่อยังไม่ถูกทำลาย ไม่เกิดผลแทรกซ้อนตามมา
  • ระดับที่ 2 บาดเจ็บในชั้นผิวหนังแท้ ผิวหนังมีสีซีด ปวด บวม ชา มีตุ่มน้ำที่ผิวหนัง เกิดผลแทรกซ้อนระยะยาวได้ เช่น ผิวหนังรู้สึกไวต่อความเย็นกว่าปกติ อาการชาเรื้อรัง
  • ระดับที่ 3 บาดเจ็บทั้งชั้นผิวหนังจนถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังได้แก่ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ผิวหนังเป็นสีคล้ำ ดำ มีถุงน้ำสีดำ ผิวหนังที่บาดเจ็บกลายเป็นเนื้อตายและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ตายออก

ปัจจัยที่มีผลต่อ Frostbite

ได้แก่ สภาพอากาศ อุณหภูมิ กระแสลม ระยะเวลาที่สัมผัสอากาศหนาว ไม่ได้อยู่ในที่กำบัง การอยู่ที่สูง การสัมผัสความชื้น การดื่มแอลกอฮอล์ อายุเยอะ ภาวะขาดสารอาหาร โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ต่ำ เส้นเลือดส่วนปลายตีบ เป็นต้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  • หาที่กำบังหรือเข้าไปอยู่ในห้องหรือที่พักเพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ในอุณภูมิที่หนาว
  • ถอดเสื้อผ้า ถุงมือ ถุงเท้าที่เปียกออก และเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่แห้งและสะอาด หลีกเลี่ยงการถูบริเวณที่บาดเจ็บ
  • คลุมบริเวณที่บาดเจ็บด้วยผ้าที่แห้ง หากมีอาการเล็กน้อยการให้ความอบอุ่นแก่บริเวณที่บาดเจ็บ จะทำให้อาการดีขึ้นได้
  • แช่มือและเท้าในน้ำอุ่น 40-42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15-30 นาที แต่ต้องแน่ใจว่ามือและเท้าจะไม่สัมผัสกับความเย็นอีกซึ่งจะทำให้การบาดเจ็บจากหิมะกัดเป็นมากขึ้น
  • หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
  • หากเนื้อเยื่อมีการบาดเจ็บรุนแรงจนเกิดเนื้อตายแพทย์จำเป็นจะต้องตัดเนื้อตายหรืออวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป

คำแนะนำในการป้องกันภาวะ Hypothermia และ Frostbite

  • ศึกษาสภาพอากาศ เส้นทาง และวางแผนการเดินทางให้ดี ก่อนการเดินทาง หลีกเลี่ยงเส้นทางที่ต้องอยู่ในที่ที่อุณภูมิหนาวจัดเป็นเวลานานและไม่มีที่พักระหว่างทาง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่หนาวจัด ลมแรง มีฝน หิมะ เป็นเวลานาน ควรอยู่ในที่กำบังระหว่างเส้นทางเป็นระยะ ๆ
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไปขณะอยู่ในที่อากาศหนาวเย็นเพื่อไม่ให้เหงื่อออกมากซึ่งจะทำให้เกิดความชื้นกับเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไปจนกระทั่งระบายเหงื่อไม่ได้จะทำให้เกิดความชื้นหรือไม่หลวมเกินไป ควรประกอบด้วย 3 ชั้น ชั้นแรกควรมีคุณสมบัติระบายเหงื่อได้ดี ชั้นที่สองควรกักเก็บความร้อนได้ ชั้นนอกสุดควรกันน้ำกันลมได้
  • สวม ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า หมวกที่คลุมถึงใบหู
  • พยายามสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่แห้งตลอดเวลา ไม่เปียกชื้น
  • ทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่ให้พลังงานสูง อาจพกไปรับประทานระหว่างเดินทาง เช่น Energy bar ผลไม้แห้ง เพื่อช่วยสร้างพลังงาน ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
  • ดื่มน้ำอุ่นให้เพียงพอแม้ไม่หิวน้ำ เพื่อช่วยให้ร่างกายคงความอุ่นไว้ อย่างน้อย 4-6 ลิตรต่อวัน
  • งดดื่มแอลกอฮอล์

ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในที่สูง ควรมีการเตรียมตัวก่อนการเดินทางที่ดี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหรือสภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดินทางขึ้นที่สูง ไม่ฝืนเดินทางต่อหากมีอาการผิดปกติที่อาจนำไปสู่อาการรุนแรง ซื้อประกันการเดินทางที่ครอบคลุมการอพยพทางอากาศ สุดท้ายนี้การปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์เวชศาสตร์การเดินทางก็อาจช่วยให้นักเดินทางมีความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนเดินทาง โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะเดินทาง การใช้ยาป้องกันต่าง ๆ และการรักษาเบื้องต้น เพื่อให้การเดินทางเป็นไปด้วยความราบรื่น และเกิดความเจ็บป่วยน้อยที่สุด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

New call-to-action

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์

พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

vaccine-center

ศูนย์วัคซีนและเวชศาสตร์การเดินทาง

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา