Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

ทำความรู้จัก โรคลมชักคืออะไร? เข้าใจสาเหตุ รับมือถูก ปลอดภัยยิ่งขึ้น!

พญ.สลิษา ประดิษฐบาทุกา

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 23 เมษายน 2025
ลมชัก

ลมชัก (Epilepsy) หรือที่หลายคนเรียกว่า ลมบ้าหมู เป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการชักซ้ำ ๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้ หลายคนอาจสงสัยว่าอาการชักเกิดจากอะไร โรคประสาทชักกระตุกนี้สามารถป้องกันได้ไหม ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่สาเหตุของลมบ้าหมู อาการ แนวทางรักษา ไปจนถึงวิธีรับมือกับอาการชักที่ถูกต้อง

Key Takeaways

  • โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการชักในรูปแบบต่าง ๆ
  • สาเหตุของลมชักอาจเกิดจากพันธุกรรม, การบาดเจ็บที่สมอง, เนื้องอกในสมอง, โรคหลอดเลือดสมอง หรือการติดเชื้อในสมอง
  • อาการชักมีหลายประเภท เช่น อาการชักเหม่อลอย, อาการชักเกร็ง, อาการชักกระตุก ไปจนถึงอาการชักกระตุกและเกร็งพร้อมกัน โดยอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงหมดสติ
  • การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น การใช้ยากันชัก, การผ่าตัด หรือการควบคุมพฤติกรรม สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG), MRI, CT Scan หรือตรวจเลือดพร้อมประวัติทางสุขภาพเบื้องต้น

สารบัญบทความ

  • ลมชัก คืออะไร? ทำความเข้าใจกันก่อน
  • ลมชักเกิดจากอะไร? มาเช็กสาเหตุของอาการชักเกร็งที่ควรรู้!
  • ลมชัก อาการเป็นอย่างไร? สัญญาเตือนที่ไม่ควรมองข้าม!
  • การวินิจฉัยโรคลมชัก ตรวจอาการอย่างไร?
  • เมื่อเป็นลมชัก รักษาอย่างไรได้บ้าง?
  • ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยลมชัก ป้องกันไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
  • ลมชัก โรคทางสมองที่ต้องระวัง อย่าปล่อยไว้ให้เป็นอันตราย
  • คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับลมชัก

ลมชัก คืออะไร? ทำความเข้าใจกันก่อน

ลมชัก (Epilepsy) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ลมบ้าหมู คือ โรคทางสมองที่เกิดจากการที่เซลล์สมองมีการปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ (Epileptiform activity) ออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อม ๆ กัน ส่งผลให้เกิดการชักเกร็งหรือในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมักมีอาการเตือนก่อนชักในระบบต่าง ๆ ของร่างกายตามด้วยอาการชัก และอาจมีอาการหลังชัก 

อาการชักนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ผู้ป่วยที่มีอาการชักนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นโรคลมชักเสมอไป การวินิจฉัยโรคลมชักนั้น จำเป็นต้องทำโดยแพทย์โดยใช้การตรวจร่างกาย ซักประวัติ และการสืบสวนทางการแพทย์อื่น ๆ ร่วมประเมินด้วย ตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชัก เช่น พันธุกรรม การบาดเจ็บที่สมอง หรือภาวะที่ส่งผลต่อสมองโดยตรง เช่น เนื้องอกในสมอง

โรคชักกระตุกมีหลายระดับความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นเพียงการชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures) ชั่วขณะหนึ่ง หรือเกิดอาการชักแบบรุนแรงจนหมดสติ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรคลมชักจะช่วยให้สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้และเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เพราะในบางรายที่เกิดลมชักรุนแรง อาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้

ลมชักเกิดจากอะไร? มาเช็กสาเหตุของอาการชักเกร็งที่ควรรู้!

อาการลมชัก

หลายคนอาจสงสัยว่าลมชักเกิดจากอะไร และมีปัจจัยใดบ้างที่กระตุ้นให้เกิดอาการชัก โดยโรคลมชักนี้เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้มีอาการชักเกร็งหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่

  • พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นลมบ้าหมู อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคลมชักได้
  • ความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง หรือความเสียหายจากการบาดเจ็บส่วนสมอง
  • การติดเชื้อในสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ
  • ภาวะสมองขาดออกซิเจน อาจเกิดจากการจมน้ำ คลอดก่อนกำหนด หรือโรคหลอดเลือดสมอง
  • ปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น การอดนอน ความเครียด แสงแฟลช หรือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี อาการลมบ้าหมูเกิดจากความผิดปกติของสมองที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจแทรกซ้อนเข้ามาเมื่อพบคนเป็นลมชัก โดยเฉพาะอาการของโรค เราจะได้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เร่งด่วนดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

ลมชัก อาการเป็นอย่างไร? สัญญาเตือนที่ไม่ควรมองข้าม!

ลมชักเป็นโรคทางสมองที่มีอาการหลากหลาย ซึ่งสำหรับตัวผู้ป่วยเอง เมื่อกำลังจะเกิดอาการชัก ร่างกายมักจะรู้สึกได้ถึงสัญญาณเตือนภายใน ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกกลัว รู้สึกชาหรือรู้สึกมีหนามทิ่มตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ประสาทสัมผัสผิดปกติ ใจสั่น วิงเวียน ขนลุก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ลมชักหรือลมบ้าหมู อาการของโรคนั้นจะแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและประเภทของโรค ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเกี่ยวกับตำแหน่งในสมองส่วนที่มีความผิดปกติ หรือลักษณะที่เกิดลมชัก แต่โดยเบื้องต้น มักจะมีอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

1. ลมชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures)

อาการของลมชักประเภทนี้มักเกิดขึ้นในเด็กและมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการเหม่อแบบทั่ว ๆ ไป ผู้ป่วยจะมีลักษณะนิ่งไปชั่วขณะ คล้ายกับกำลังเหม่อลอยหรือใจลอย อาจกระพริบตาหรือขยับริมฝีปากโดยไม่รู้ตัวหากชักแบบนี้นาน ซึ่งลมชักประเภทนี้จะกินเวลาประมาณ 4-20 วินาที และอาจเกิดขึ้นหลายครั้งต่อวัน ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น และอาจกลับมาทำกิจกรรมต่อได้ทันทีโดยที่คนรอบข้างยังไม่ทันได้สังเกต

2. ลมชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures)

เกิดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรวดเร็วหลังหมดสติ ส่งผลให้ร่างกายแข็งเกร็งไปชั่วขณะ อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบางส่วนหรือทั้งตัว หากเกิดขึ้นขณะยืน อาจทำให้ล้มลงอย่างกะทันหัน อาการมักกินเวลาไม่กี่วินาทีถึงสองนาที

3. ลมชักแบบสูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Atonic Seizures)

อาการของโรคแบบสูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อนี้ตรงข้ามกับลมชักแบบกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เพราะเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อสูญเสียแรงกะทันหัน ส่งผลให้ผู้ป่วยทรุดตัวลงหรือล้มลงโดยไม่สามารถควบคุมได้ มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกินเวลาเพียงไม่กี่วินาที ทำให้ผู้ป่วยมักสามารถลุกขึ้นได้ทันที บางครั้งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บจากการล้มได้ด้วย

4. ลมชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures)

ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติตามด้วยอาการที่กล้ามเนื้อทั้งตัวกระตุกเป็นจังหวะติดต่อกัน โดยที่ไม่มีการเกร็งของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงบาดเจ็บจากการล้มได้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่มีการเกร็งก็ตาม

5. ลมชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures)

เป็นอาการของโรคลมชักที่มีกล้ามเนื้อกระตุกคล้ายสะดุ้งมักกระตุกที่แขนสองข้าง อาจจะกระตุกครั้งเดียวหรือเป็นช่วงสั้น ๆ ไม่กี่ครั้ง ไม่เป็นจังหวะ อาการกระตุกแต่ละครั้งนานเพียงเสี้ยววินาที

6. ลมชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic-Clonic Seizures)

เป็นรูปแบบอาการของโรคลมชักที่พบได้บ่อยและรุนแรงที่สุด โดยเริ่มจากมีอาการหมดสติตามด้วยระยะเกร็ง (Tonic Phase) ทำให้ผู้ป่วยล้มลง และตามมาด้วยระยะที่กล้ามเนื้อชักกระตุก (Clonic Phase) ซึ่งอาจมีอาการกัดลิ้น กลั้นหายใจ หรือสูญเสียการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระร่วมด้วย ลมชักประเภทนี้มักกินเวลาหลายวินาทีถึงหลายนาที และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคลมชัก ตรวจอาการอย่างไร?

โรคลมชัก ตรวจร่างกาย

การวินิจฉัยโรคลมชักเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถระบุสาเหตุว่าอาการชักเกร็งเกิดจากอะไร โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยประเมินการทำงานของสมอง ซึ่งการตรวจที่นิยมใช้ ได้แก่

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG – Electroencephalogram)

การเช็กว่าเป็นลมชักหรือไม่ สามารถใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองหรือ EEG ซึ่งเป็นการตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าในสมองผ่านอิเล็กโทรดที่ติดบริเวณศีรษะ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองที่อาจเป็นสาเหตุของโรคลมชักหรือไม่ การตรวจนี้สามารถช่วยระบุประเภทของโรคลมชัก และตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติในสมองได้ โดยการทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการชักจะมีโอกาสพบความผิดปกติได้มากขึ้น

การตรวจภาพถ่ายกายภาพของสมอง (Neuroimaging)

การตรวจหาสาเหตุของลมชักด้วย MRI เป็นเทคนิคการถ่ายภาพสมองที่ให้รายละเอียดสูง โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ สามารถช่วยตรวจหาความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอก รอยโรค หรือความเสียหายของเนื้อเยื่อสมองที่อาจเป็นสาเหตุของโรคลมชักได้

อีกวิธีหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือการตรวจ CT scan เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์สร้างภาพสมองในรูปแบบสามมิติ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น เลือดออกในสมอง ภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับลมชัก

การตรวจเลือดและปัจจัยอื่น ๆ 

แพทย์อาจตรวจเลือดหรือน้ำไขสันหลังเพื่อหาสาเหตุที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น การติดเชื้อ ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ หรือความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม นอกจากนี้ อาจมีการตรวจคลื่นหัวใจ (ECG) หรือการเฝ้าติดตามอาการของลมชักด้วย EEG เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของสมองระหว่างเกิดอาการได้ด้วย

เมื่อเป็นลมชัก รักษาอย่างไรได้บ้าง?

ลมชักหรือโรคชักกระตุก เป็นภาวะที่สามารถรักษาและควบคุมอาการได้ด้วยวิธีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้ยา การผ่าตัด ไปจนถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัจจัยมากระตุ้นจนเกิดอาการ มาดูกันว่ามีวิธีการรักษาลมชักอย่างไรบ้าง

1. การใช้ยาเพื่อควบคุมอาการชัก

การรักษาลมชัก ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการใช้ยากันชักเป็นวิธีเบื้องต้นก่อน ซึ่งจะช่วยลดความถี่และความรุนแรงให้อาการบรรเทาลง โดยยาที่ใช้รักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของโรคลมชักที่เป็นอยู่ เช่น ยากันชักกลุ่ม Carbamazepine, Phenytoin, Valproic acid สำหรับลมชักแบบทั่วไป หรือยากันชักกลุ่ม Lamotrigine, Levetiracetam, Topiramate สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักบางประเภท โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัดตามแพทย์สั่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ยาด้วย

2. การผ่าตัดรักษาลมชัก

หากผู้ป่วยใช้ยากันชักแล้วไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดสมองเพื่อนำบริเวณที่เป็นต้นเหตุของลมชักออก เช่น กรณีที่มีอาการลมบ้าหมูซึ่งเกิดจากเนื้องอกในสมอง หรือพยาธิสภาพที่สามารถผ่าตัดรักษาได้ การผ่าตัดเป็นวิธีที่ช่วยลดอาการชักของผู้ป่วยลมชักหรืออาจทำให้หายขาดได้ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและลักษณะของโรค

3. การใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท (Vagal Nerve Stimulation – VNS)

เป็นการฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก เพื่อลดความรุนแรงของลมชักโดยส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้ยาไม่ได้ผลและไม่สามารถผ่าตัดได้

4. การกินคีโต (Ketogenic Diet)

เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการของลมชักได้แบบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง! โดยการกินคีโตจะเป็นการปรับโภชนาการให้ร่างกายใช้ไขมันเป็นพลังงานหลักแทนคาร์โบไฮเดรต อาหารคีโต (Ketogenic) จะมีการควบคุมสัดส่วนไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งช่วยลดความถี่ของการเกิดโรคชักกระตุกได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชัก

5. การปรับพฤติกรรมและการดูแลตัวเอง

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นลมชัก เบื้องต้นควรจะต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและเริ่มดูแลตัวเองให้เคร่งครัดมากขึ้น เพราะหากได้รับการดูแลรักษาร่างกายอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยในการควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ อย่างแสงแฟลช การอดนอน ความเครียด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด หรืออื่น ๆ ร่วมกับการปรึกษาแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่ออัปเดตอาการสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ สำหรับคนเป็นลมชักได้

ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยลมชัก ป้องกันไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

ลมชัก ข้อควรระวัง

ผู้ที่เป็นลมชักหรือโรคประสาทชักกระตุกควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของอาการลมชักและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นขณะชัก โดยควรคำนึงถึงข้อควรระวังต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นลมชัก ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงแสงกะพริบและแสงแฟลช เช่น แสงในคอนเสิร์ต สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ หรือจากเกมส์บางชนิด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความไวต่อแสง (Photosensitive Epilepsy)
  • หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวในสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น บริเวณที่สูง น้ำลึก หรือใกล้เครื่องจักรกล
  • ระมัดระวังขณะขับขี่และใช้เครื่องจักร หากยังมีอาการของลมชักอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนขับขี่ยานพาหนะ
  • ปรับพื้นที่ให้ป้องกันอุบัติเหตุในบ้านอย่างครอบคลุม เช่น ปูพื้นกันลื่น ไม่ล็อกห้องน้ำจากด้านใน และใช้ภาชนะที่ไม่แตกง่าย
  • ห้ามหยุดยาด้วยตัวเอง (กรณีที่ต้องทานยา) เพราะอาจทำให้อาการของลมชักกลับมาและรุนแรงขึ้น
  • ควรบอกวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กับครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน เผื่อเกิดเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • พกบัตรระบุว่าเป็นผู้ป่วยลมชัก พร้อมเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน เพื่อให้คนรอบข้างช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องไปไหนมาไหนคนเดียว

ลมชัก โรคทางสมองที่ต้องระวัง อย่าปล่อยไว้ให้เป็นอันตราย

ลมชัก เป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชักในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาการชักเกร็ง, อาการชักกระตุก, หรือ อาการชักแบบเหม่อลอย ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือเกิดซ้ำบ่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ปัจจุบัน ศูนย์สมองและระบบประสาท มีแนวทางการรักษาที่ช่วยควบคุมอาการของลมชักได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยากันชัก การผ่าตัด หรือการรักษาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การปรับพฤติกรรมและการควบคุมอาหาร การดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและลดโอกาสในการเกิดลมชักได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • Facebook : Praram 9 hospital  
  • Line : @Praram9Hospital
  • โทร. 1270

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับลมชัก

1. ลมชักมักเกิดตอนไหน?

ลมชักเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่บางคนอาจมีชักบ่อยในช่วง นอนหลับ, หลังตื่นนอน, ขณะเครียด, อดนอน, หรือเมื่อได้รับแสงกะพริบ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน

2. ลมชักสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

ผู้ป่วยบางคนสามารถควบคุมลมชักได้ด้วยยาและการรักษาที่เหมาะสม อาจหยุดยากันชักเเละเฝ้าระวังเเทนหลังจากที่เเพทย์ประเมินเเล้ว แต่บางรายอาจต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต

3. ผู้ป่วยลมชักสามารถขับรถได้หรือไม่?

ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศและการควบคุมอาการ หากลมชักไม่เกิดขึ้นเป็นเวลานานตามที่แพทย์กำหนด อาจได้รับอนุญาตให้ขับรถได้

4. หากพบคนชักต่อหน้า ควรทำอย่างไร?

หากพบเห็นคนที่กำลังมีอาการชัก ห้ามพยายามง้างปากหรือใส่สิ่งของเข้าไปในปาก ต้องจับให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก จากนั้นเคลียร์สิ่งของอันตรายรอบตัวเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และจับเวลาเกิดอาการชัก หากชักนานเกิน 5 นาที ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด

References

Epilepsy. (2022, March 11). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17636-epilepsy 

Mayo Clinic Staff. (2023, October 14). Epilepsy. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/epilepsy/symptoms-causes/syc-20350093 

Overview Epilepsy. (2022, March 11). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/epilepsy/ 

What Is Epilepsy?. (2019, October 1). Epilepsy Foundation. https://www.epilepsy.com/what-is-epilepsy 

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

พญ.สลิษา ประดิษฐบาทุกา

พญ.สลิษา ประดิษฐบาทุกา

ศูนย์สมองและระบบประสาท

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

ศูนย์สมองและระบบประสาท

ศูนย์สมองและระบบประสาท

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา