Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

“ภูมิแพ้ผิวหนัง” จัดการได้

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 29 กุมภาพันธ์ 2024
ภูมิแพ้ผิวหนัง

หลายท่านคงเคยได้ยินถึงโรคภูมิแพ้ที่ทำให้มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล จากการแพ้ไรฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ หรือบางคนแพ้อาหาร แพ้ยา แต่นอกจากโรคภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารแล้ว อีกส่วนหนึ่งของร่างกายที่สามารถเกิดภูมิแพ้ได้เช่นกัน คือ ผิวหนัง

สมัยเด็ก ๆ บางคนคงมีบ้างที่เคยรู้สึกคัน ๆ ตามข้อพับเข่า หรือข้อพับศอก เป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งเกาจนผิวเป็นผื่นนูนแดง เกาจนถลอกเป็นแผล หรือบางทีก็เผลอเกาอีกจนเป็นแผลติดเชื้อ ขึ้นตุ่มหนอง บางคนอาจเรียกว่า “น้ำเหลืองไม่ดี” และเมื่อแผลหายก็อาจกลายเป็นรอยคล้ำที่ผิว ทำให้ผิวไม่เนียนสวย แต่ทราบหรือไม่ว่า อาการโรคผิวหนังที่กล่าวมานี้คือ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

สารบัญ

  • ภูมิแพ้ผิวหนังคืออะไร?
  • ภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากอะไร?
  • อาการของภูมิแพ้ผิวหนัง และบริเวณที่พบได้บ่อย
  • การดำเนินโรคของภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ปัจจัยกระตุ้นอาการภูมิแพ้ผิวหนัง 
  • เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
  • การวินิจฉัยภูมิแพ้ผิวหนัง 
  • การดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง 
  • การป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนัง 
  • สรุป

ภูมิแพ้ผิวหนังคืออะไร?

โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือที่เรียกว่า atopic dermatitis หรือ eczema เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เกิดที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ โดยโรคภูมิแพ้ผิวหนังมีการเรียกกันในภาษาไทยอยู่หลายชื่อ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบไวเกิน โรคผิวไว ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนหมายถึงโรคเดียวกัน คือ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคภูมิแพ้ผิวหนังพบได้บ่อยที่สุดในเด็ก เป็นโรคที่ไม่ใช่โรคติดต่อ อยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ หรือร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้ สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความไวและตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มากเกินปกติ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนังจึงมักมีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคไข้ละอองฟาง

> กลับสู่สารบัญ

ภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากอะไร?

ภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนี้

  • ปัจจัยภายใน คือ ลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ หากมีคนในครอบครัว เช่น พ่อหรือแม่เป็นภูมิแพ้ ก็มักจะพบว่าลูกก็จะมีแนวโน้มเป็นภูมิแพ้ด้วยเช่นกัน แต่สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนอาจจะมีอาการ ความรุนแรง ความไว และสารก่อภูมิแพ้ที่แตกต่างกันไป 
  • ปัจจัยภายนอก คือ สารใด ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบได้ เรียกโดยรวมว่า สารก่อภูมิแพ้ เช่น แมลง ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ สารเคมีที่ก่อความระคายเคือง เป็นต้น หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อากาศมีอุณหภูมิร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป อากาศแห้งหรือชื้นเกินไป ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสามารถกระตุ้นให้ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบได้เช่นกัน

> กลับสู่สารบัญ

อาการของภูมิแพ้ผิวหนัง และบริเวณที่พบได้บ่อย

โรคภูมิแพ้ผิวหนังโดยทั่วไปจะทำให้มีอาการคัน ผิวแห้ง มีผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง แต่จะมีลักษณะเฉพาะและบริเวณของร่างกายที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ ดังต่อไปนี้ 

  1. ช่วงวัยทารกอายุ 2 เดือนจนถึง 2 ปี มักจะมีอาการเริ่มจากผื่นแดงคันบริเวณแก้ม หน้าผาก และบริเวณที่มีการถูไถ เสียดสี หรือสัมผัสกับที่นอน เช่น แก้มและหน้าผากในช่วงที่เด็กคว่ำ หรือ ข้อศอกและเข่าในช่วงที่เด็กเริ่มคลาน โดยผื่นแดงคันนั้นอาจมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำเล็ก ๆ ร่วมด้วย ถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้วตกสะเก็ด อาจพบรอยเกา ในทารกที่มีอาการรุนแรง ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า จนถึงขั้นลุกลามไปทั่วร่างกายได้
  2. ช่วงวัยเด็ก ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กมักมีลักษณะเป็นผื่นบวมแดง คันยุบยิบ และลอกเป็นขุย ตำแหน่งที่พบบ่อยคือตามข้อพับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณข้อพับด้านในศอก ข้อพับเข่าที่ขา รอบคอ ข้อมือหรือข้อเท้า โดยมักเป็นซ้ำ ๆ ในบริเวณเดิมที่เคยเป็นมาก่อน หากอาการรุนแรงก็อาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นได้เช่นกัน ผื่นคันมักมีตุ่มนูนแดงแห้ง ๆ มีขุยเล็กน้อย แต่มักจะไม่พบตุ่มน้ำแตกน้ำเหลืองไหลเหมือนที่พบในทารก ในผู้ป่วยที่มีอาการอยู่นานอาจทำให้ผื่นแดงหนาตัวขึ้นกลายเป็นสีน้ำตาลคล้ำ อาการคันมักทำให้ผู้ป่วยเกาจนเกิดแผลถลอก และทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
  3. ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ อาการส่วนใหญ่มักจะดีขึ้นจนเหมือนหายไป แต่อาการที่อาจจะยังมีเหลืออยู่ คือ ผิวแห้ง คันบริเวณหลังเท้า ขึ้นผื่นที่รอบคอ ผิวหนังที่ฝ่ามืออักเสบและแพ้สารต่าง ๆ ได้ง่าย อาจมีผิวแห้งมากในบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า แห้งจนผิวแตก และอาจมีเลือดออกซิบ ๆ ได้

> กลับสู่สารบัญ

การดำเนินโรคของภูมิแพ้ผิวหนัง

ภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบมากในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่วัยทารกก่อนจะอายุครบ 1 ปี หรืออาจเริ่มเป็นในช่วงวัยอนุบาล แต่อาการของโรคจะเป็น ๆ หาย ๆ มีระยะเวลาที่โรคสงบทิ้งช่วง สลับกับอาการกำเริบขึ้นมาเป็นพัก ๆ โดยอาการมักจะดีขึ้นจนเหมือนหายไปได้เองในช่วงก่อนวัยรุ่น อย่างไรก็ตามจะยังมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะยังคงมีอาการจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรืออาจจะกำเริบขึ้นได้หากมีปัจจัยกระตุ้น ด้วยลักษณะการดำเนินโรคเช่นนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจจะพอเบาใจได้ว่าอาการป่วยของลูกจะดีขึ้นได้เมื่อโตขึ้น ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลจนเกินไป หากมีปัญหาอาการคันควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาและข้อแนะนำที่ถูกต้อง

> กลับสู่สารบัญ

ปัจจัยกระตุ้นอาการภูมิแพ้ผิวหนัง

  • สารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม เช่น ละอองเกสร แมลง ขนสัตว์ ไรฝุ่น เป็นต้น
  • เสื้อผ้า ผ้าห่ม หรือเครื่องประดับที่มีขน ไม่ว่าจะเป็นขนสังเคราะห์หรือขนสัตว์
  • ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ
  • การเปิดแอร์เย็นจัด
  • ฝุ่นละออง PM2.5
  • การแพ้อาหารบางชนิด

> กลับสู่สารบัญ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

หากภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น คันจนนอนไม่หลับ คันจนต้องเกาตลอดเวลา เสียบุคลิกภาพ ผิวหนังบวมแดงมากจนเจ็บ มีขึ้นตุ่มหนอง ผิวหลุดลอก น้ำเหลืองไหล ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการก่อนที่จะเป็นรอยแผลเป็นหรือรอยดำซึ่งจะเป็นผลเสียในระยะยาว

> กลับสู่สารบัญ

การวินิจฉัยภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคภูมิแพ้ผิวหนังสามารถวินิจฉัยได้จาก

  • การซักประวัติ โดยเฉพาะประวัติอาการ 
  • การตรวจร่างกายบริเวณผิวหนังที่มีอาการคัน 
  • การซักประวัติการเป็นภูมิแพ้ไม่ว่าชนิดใด ๆ ทั้งผู้ป่วยเองและสมาชิกในครอบครัว
  • อาจมีการทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้เพิ่มเติมเพื่อประกอบการวางแผนในการดูแลรักษาต่อไป

> กลับสู่สารบัญ

การดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

เนื่องจากภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากปัจจัยภายในคือพันธุกรรมของตัวผู้ป่วยเอง การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้อาการคันลุกลาม เกิดการถลอก ติดเชื้อ หรือเกิดรอยแผลเป็นตามมาได้ และรวมไปถึงการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบหรืออาการแย่ลง เช่น

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ
  • ไม่เกา เพราะการเกาจะทำให้ผื่นเห่อมากขึ้น และสามารถใช้ยาเพื่อลดอาการคันได้
  • ใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง โดยควรทาหลังจากอาบน้ำทันที และทาซ้ำหากยังรู้สึกผิวแห้งอยู่
  • แพทย์อาจสั่งยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์และกลุ่มยากดภูมิให้ผู้ป่วย เนื่องจากภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป การใช้ยาทาที่มีฤทธิ์ยับยั้งภูมิคุ้มกันจึงช่วยควบคุมโรคและลดการอักเสบของผิวหนังได้ดี อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น  
  • หากมีตุ่มหนองขึ้น แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย

> กลับสู่สารบัญ

การป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือกดดันจนเกินไป
  • หมั่นทามอยส์เจอไรเซอร์บำรุงผิวหนัง
  • ไม่อาบน้ำอุ่นนาน 
  • หลีกเลี่ยงสบู่ และสารทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นด่าง หรือระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมอาการในช่วงที่ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ต้องทำอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะยาว ดังนั้นในเด็ก ผู้ปกครองจึงควรหมั่นดูแล และสังเกตอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เพื่อป้องการอาการกำเริบ และการติดเชื้อแทรกซ้อน

> กลับสู่สารบัญ

สรุป

ภูมิแพ้ผิวหนัง แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถบรรเทาอาการและจัดการควบคุมโรคให้สงบจนไม่มีอาการได้ ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของโรค การหลีกเลี่ยง และป้องการปัจจัยกระตุ้นอาการต่าง ๆ ซึ่งหากมีอาการกำเริบก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

คลิกดูแพ็กเกจที่เกี่ยวข้องที่นี่

แพ็กเกจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง Skin Test ทดสอบภูมิแพ้อากาศและอาหาร

รายละเอียด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

สนใจนัดหมาย

> กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

 

ศูนย์แพทย์

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา