Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

สมองเสื่อมแตกต่างจากอัลไซเมอร์อย่างไร สามารถรักษาให้หายได้ไหม?

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 13 มิถุนายน 2025
สมองเสื่อม

เคยไหมที่บางครั้งเราลืมว่าวางกุญแจไว้ไหน จำชื่อคนไม่ค่อยได้ หรือพูดแล้วลืมว่ากำลังจะพูดอะไร? อาการขี้ลืมเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่ออายุมากขึ้นหลายคนก็อาจกังวลว่านี่คือสัญญาณของโรคอะไรหรือไม่ เป็นสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์กันแน่ ทั้งสองต่างกันอย่างไร และสามารถรักษาหรือป้องกันได้หรือไม่? บทความนี้จะมาตอบทุกคำถามเหล่านี้ให้ได้รู้กัน

Key Takeaways

  • สมองเสื่อมไม่ใช่โรคเดียวกับอัลไซเมอร์ สมองเสื่อมเป็นชื่อเรียกกลุ่มอาการรวมของการมีภาวะบกพร่องในการทำงานของสมอง ส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น ในด้านความจำ ความคิด การตัดสินใจ หรือความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
  • หากภาวะสมองเสื่อมเกิดจากปัจจัยที่แก้ไขได้ เช่น ขาดวิตามิน หรือภาวะไทรอยด์ผิดปกติ การรักษาที่เหมาะสมก็อาจช่วยให้ดีขึ้น แต่หากเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถใช้ยาและการดูแลที่ถูกต้องเพื่อช่วยชะลออาการได้
  • การดูแลสุขภาพสมองตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ และฝึกใช้สมอง ช่วยลดความเสี่ยงลงได้
  • หากมีอาการขี้ลืมมากผิดปกติหรือรู้สึกว่าไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิมควรเข้ารับการตรวจที่ศูนย์สมองและระบบประสาท เพื่อรับการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

สารบัญบทความ

  • สมองเสื่อมคืออะไร?
  • สมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากอะไร?
  • เปิดปัจจัยเสี่ยง! ใครบ้างที่อาจมีภาวะสมองเสื่อม
  • อาการสมองเสื่อมเป็นอย่างไร?
  • วิธีวินิจฉัยสมองเสื่อมทำอย่างไรบ้าง?
  • โรคสมองเสื่อมรักษาอย่างไรได้บ้าง?
  • ตรวจพบไว ป้องกันภัยสมองเสื่อมได้เร็ว!
  • คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสมองเสื่อม

สมองเสื่อมคืออะไร?

โรคสมองเสื่อม (Dementia) คือภาวะที่สมองสูญเสียความสามารถในการทำงานเนื่องจากเซลล์สมองที่ทำงานได้มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ความจำ การคิด การตัดสินใจ และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดในคนที่อายุน้อยได้เช่นกัน 

สมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากอะไร?

อาการหลง ๆ ลืม ๆ เกิดจากขาดวิตามินอะไร

คำว่าสมองเสื่อมเป็นคำควบรวมอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เซลล์สมองทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิมหรือมีการตายของเซลล์สมอง ซึ่งมักจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ต่อไป เช่น

  • โรคอัลไซเมอร์ : เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะสมองเสื่อม เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์สมอง ทำให้การสื่อสารของประสาทแย่ลง ส่งผลให้ความจำและการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง : เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง เกิดจากการตีบตันหรือการแตกของหลอดเลือดสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจนและสารอาหารจนเซลล์สมองบางส่วนตาย ซึ่งนอกจากอาจจะทำให้อ่อนแรง การทรงตัวไม่ดี และพูดไม่ชัดแล้ว ยังอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมในระยะยาว ดังนั้นการรู้จักโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยด้วยเช่นกัน
  • การติดเชื้อและความผิดปกติของร่างกาย : โรคบางโรคสามารถส่งผลกระทบต่อสมองและนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ เช่น การติดเชื้อ HIV หรือซิฟิลิส การทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ และภาวะขาดวิตามินบี 12
  • การได้รับสารพิษหรืออุบัติเหตุทางสมอง : ยาบางประเภท สารเคมี หรือแอลกอฮอล์ อาจจะสามารถทำลายเซลล์สมองได้ นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรงหรือมีประวัติมีการกระทบกระทั่งของศีรษะเป็นประจำก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสมอง : บางโรคที่ส่งผลต่อสมองโดยตรง เช่น ภาวะโพรงน้ำในสมองโต เนื้องอกในสมอง หรือโรคที่ทำให้การทำงานของตับและไตผิดปกติเรื้อรัง ก็อาจทำให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน

เปิดปัจจัยเสี่ยง! ใครบ้างที่อาจมีภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะนี้ ได้แก่

  • อายุที่เพิ่มขึ้น : เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์สมองจะลดลงไปตามธรรมชาติ ทำให้ความสามารถในการคิดและจดจำลดลง
  • พันธุกรรมและประวัติครอบครัวที่มีภาวะสมองเสื่อม : หากมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคสมองเสื่อม ความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ก็จะสูงขึ้น โดยเฉพาะในโรคสมองเสื่อมที่เกิดก่อนอายุ 65 ปี
  • โรคประจำตัว : เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคตับ และโรคไตเรื้อรัง โรคเหล่านี้ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้สมองได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ
  • การดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ในปริมาณมาก : สารพิษจากแอลกอฮอล์และบุหรี่สามารถทำลายเซลล์สมองและเพิ่มความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะบุหรี่ซึ่งทำให้มีการเสื่อมของระบบไหลเวียนเลือด ส่งผลในระยะยาวต่อการทำงานของสมอง
  • การได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อมหรือสารเสพติด : สารพิษบางชนิด เช่น โลหะหนัก หรือสารเคมีบางประเภท อาจมีผลต่อการทำงานของสมองได้
  • โรคต่อมไทรอยด์หรือพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติ : ความไม่สมดุลของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์อาจส่งผลต่อระบบประสาทและการทำงานของสมอง
  • การติดเชื้อ HIV หรือซิฟิลิส : ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่สามารถทำลายเซลล์สมองหรือทำให้การทำงานของสมองแย่ลง ซึ่งทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นประจำ : เช่น อาชีพนักมวย ซึ่งมีการกระทบกระเทือนที่ศีรษะบ่อย ๆ ทำให้มีการบาดเจ็บของสมองได้ง่าย
  • การขาดวิตามินบี 12 : บี 12 เป็นวิตามินที่สำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท การขาดสารอาหารนี้อาจส่งผลต่อความจำและการรับรู้
  • เป็นผู้ที่มีภาวะโพรงน้ำในสมองโตหรือการมีเนื้องอกในสมอง : โรคที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสมองอาจรบกวนการทำงานของสมองได้

อาการสมองเสื่อมเป็นอย่างไร?

อาการสมองเสื่อม

อาการสมองเสื่อมไม่ได้มีเพียงแค่การหลงลืมธรรมดาตามวัย แต่เป็นยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกมากมาย อาการของโรคสมองเสื่อมสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • หลงลืมง่าย : ลืมเหตุการณ์สำคัญ จำชื่อคนใกล้ชิดไม่ได้ หรือถามคำถามซ้ำ ๆ
  • เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ยาก : เข้าใจข้อมูลใหม่ได้ช้าลง หรือไม่สามารถจดจำสิ่งที่เพิ่งเรียนรู้ได้
  • พูดและเขียนได้ไม่คล่อง : ใช้คำผิด ลำดับประโยคไม่ถูก หรืออธิบายสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้ยากขึ้น
  • ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง : ทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้เองลำบากขึ้น เช่น แต่งตัว กินข้าว หรือใช้ของใช้ในบ้าน
  • อารมณ์ผันผวน : หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวโดยไม่มีเหตุผล
  • บุคลิกเปลี่ยนไป : จากคนที่เคยร่าเริงอาจกลายเป็นเฉยชา หรือจากคนใจดีอาจกลายเป็นฉุนเฉียว
  • นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน : นอนหลับยาก ตื่นกลางดึก หรือมีอาการเห็นภาพและได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง

วิธีวินิจฉัยสมองเสื่อมทำอย่างไรบ้าง?

วิธีวินิจฉัยสมองเสื่อม

การวินิจฉัยสมองเสื่อมต้องอาศัยหลายขั้นตอนเพื่อระบุสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยแพทย์จะใช้วิธีการตรวจต่าง ๆ ดังนี้

  • ตรวจร่างกายและซักประวัติโดยแพทย์ : แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากนั้นจะทำการตรวจร่างกายระบบประสาท เช่น การตอบสนองของกล้ามเนื้อ การทรงตัว และการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง
  • ตรวจสอบศักยภาพของสมอง : ใช้แบบทดสอบเพื่อประเมินความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การเรียนรู้ การใช้ภาษา การคิดคำนวณ การรับรู้เวลาและสถานที่ รวมถึงความสามารถในการวางแผนและตัดสินใจ
  • ตรวจเลือด : ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ ตับ ไต และระดับเกลือแร่ในร่างกาย เพื่อดูว่ามีภาวะผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุของอาการสมองเสื่อมหรือไม่
  • ตรวจภาพสมอง : ใช้วิธี MRI (การสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) หรือ EEG (การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง) เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น การฝ่อของสมอง เนื้องอก หรือภาวะหลอดเลือดสมองที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สมองเสื่อม
  • เจาะน้ำไขสันหลัง : ในกรณีที่สงสัยว่าภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท แพทย์อาจทำการเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจหาสารที่บ่งชี้ถึงโรค

โรคสมองเสื่อมรักษาอย่างไรได้บ้าง?

การรักษาภาวะสมองเสื่อมขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค หากเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขต้นเหตุ แต่หากเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จะเน้นการดูแลประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

1. การรักษาตามสาเหตุ

เป็นวิธีที่จะใช้สำหรับอาการที่เกิดจากโรคหรือภาวะที่สามารถรักษาได้ เช่น

  • โรคหลอดเลือดสมอง : ควบคุมความดันโลหิต ลดไขมัน และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด
  • การติดเชื้อในสมอง : ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสรักษาตามชนิดของเชื้อ
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ : ปรับสมดุลฮอร์โมนไทรอยด์ด้วยยา
  • ภาวะขาดวิตามิน : ให้วิตามินเสริมเพื่อฟื้นฟูการทำงานของสมอง
  • ภาวะโพรงน้ำสมองโตหรือเนื้องอกในสมอง : อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือระบายน้ำในสมอง

2. การรักษาแบบประคับประคอง

สำหรับโรคที่ส่งผลแบบถาวร เช่น โรคอัลไซเมอร์ การรักษาก็จะมุ่งเน้นที่การชะลออาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแทน เช่น

  • การใช้ยา : อาจใช้ยาที่ช่วยชะลอการเสื่อมของสมอง เช่น ยากลุ่ม Cholinesterase inhibitors หรือ Memantine ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยจดจำและใช้ชีวิตได้นานขึ้น
  • ดูแลทางด้านจิตใจและพฤติกรรม : อาจใช้จิตบำบัด หรือกิจกรรมกระตุ้นสมอง เช่น การทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกความจำ
  • ให้ความดูแลจากครอบครัวและผู้ดูแล : ผู้ป่วยจะต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ครอบครัวควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย
  • ใช้กิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพ : อาจมีการทำกายภาพบำบัด ฝึกการพูด หรือกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง

ตรวจพบไว ป้องกันภัยสมองเสื่อมได้เร็ว! 

สมองเสื่อมเป็นภาวะส่งผลต่อความจำ การเรียนรู้ การใช้ภาษา และพฤติกรรม ซึ่งอาจเริ่มจากการหลงลืมเล็กน้อยไปจนถึงระดับที่รุนแรงจนจำเรื่องราวสำคัญในชีวิตไม่ได้อีกต่อไปและไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมมีทั้งที่รักษาได้และไม่ได้ โดยจะต้องอาศัยการตรวจทางระบบประสาท การทดสอบความจำ การตรวจเลือด หรือการสแกนสมองเพื่อใช้ในการวินิจฉัยสาเหตุและวิธีการรักษาโรคนี้

หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการสมองเสื่อม ก็สามารถมาเข้ารับการตรวจที่ศูนย์สมองและระบบประสาทที่โรงพยาบาลพระราม 9 เพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมกับแผนการชีวิตของแต่ละคน 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • Facebook : Praram 9 hospital  
  • Line : @Praram9Hospital
  • โทร. 1270

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสมองเสื่อม

1. สมองเสื่อมคือโรคอัลไซเมอร์หรือไม่?

ไม่ใช่ เพราะโรคอัลไซเมอร์เป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อในสมอง ภาวะขาดสารอาหาร หรือโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่อาจทำให้เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

2. เราสามารถป้องกันอาการสมองเสื่อมได้หรือไม่?

แม้ว่าบางสาเหตุ เช่น โรคอัลไซเมอร์ อาจไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขภาพสมองด้วยวิธี ดังนี้

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสมอง : เช่น อาหารที่มีโอเมก้า-3 ผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • ฝึกใช้สมองอยู่เสมอ : เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกมฝึกสมอง หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
  • ควบคุมโรคประจำตัว : เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
  • หลีกเลี่ยงสารอันตราย : งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงสารพิษ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ : นอนหลับอย่างมีคุณภาพเพื่อให้สมองฟื้นฟูตัวเอง

References

Dementia. (2023, March 15). World Health Organization. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/dementia 

What is Dementia? (n.d.). Alzheimer’s Association. https://www.alz.org/alzheimers-dementia/what-is-dementia 

What Is Dementia? Symptoms, Types, and Diagnosis. (2022, December 8). National Institute on Aging. https://www.nia.nih.gov/health/alzheimers-and-dementia/what-dementia-symptoms-types-and-diagnosis 

What is the difference between dementia and Alzheimer’s disease? (2024, November). Alzheimer’s Society. https://www.alzheimers.org.uk/blog/difference-between-dementia-alzheimers-disease 

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

 

ศูนย์แพทย์

doc-logo

สถาบันหัวใจและหลอดเลือด แผลเล็ก (MIS)

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา