Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

ผ่าตัดเข่าเสื่อมใส่ข้อเข่าเทียม หนทางเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กลับมาแอคทีฟได้อีกครั้ง

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 24 พฤษภาคม 2025
ผ่าตัดเข่าเสื่อม

ข้อเข่าที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ย่อมมีวันเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา การรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม เป็นหนึ่งในหนทางที่จะคืนชีวิตให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง

Key Takeaways

  • การผ่าตัดเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม เป็นวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการตัดผิวข้อเข่าที่สึกกร่อน แล้วแทนที่ด้วยโลหะและ วัสดุคุณภาพสูง เพื่อให้ข้อเข่าสามารถกลับมาใช้งานเป็นปกติได้อีกครั้ง
  • การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมมี 2 ประเภท คือ การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมทั้งข้อ และการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน
  • ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม มักจะมีอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรง เช่น ปวดเข่ารุนแรงไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหนก็ตาม, ข้อเข่างอผิดรูป และไม่สามารถใช้ยาหรือกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการได้

สารบัญบทความ

  • รู้จักโรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร แค่ผู้สูงอายุหรือไม่? ที่มีโอกาสเป็น
  • ผ่าตัดเข่าเสื่อมเพื่อรักษาข้อเข่า มีกี่ประเภท?
  • ข้อดีและข้อจำกัดของการรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม
  • การเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม
  • ขั้นตอนการผ่าตัดเข่าเสื่อม
  • การดูแลตนเองหลังผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม
  • ผ่าตัดเข่าเสื่อม เพิ่มความคล่องตัวให้กับชีวิต ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า
  • คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดเข่าเสื่อม

รู้จักโรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร แค่ผู้สูงอายุหรือไม่? ที่มีโอกาสเป็น

โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) คือโรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึงโครงสร้างกระดูกบริเวณข้อเข่าอย่างถาวร จึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ลำบาก โดยอาการจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม 

โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นพบได้บ่อยในผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี เนื่องจากข้อเข่าผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง จึงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม โรคข้อเข่าเสื่อมยังเกิดขึ้นกับคนที่อายุน้อยกว่านั้นได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่นหากเคยบาดเจ็บที่ข้อเข่า มีประวัติหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด หรือชอบนั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ รวมทั้งมีน้ำหนักตัวเกินควร ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น ทั้งนี้โรคข้อเข่าเสื่อมยังเกิดขึ้นได้จากโรคอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อที่ข้อ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเก๊าท์ เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอาการรุนแรงแค่ไหนที่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด? 

  • อาการปวดข้อเข่ารุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีอาการปวดข้อเข่าตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในท่าทางไหนก็ตาม
  • ข้อเข่าบวม ร้อนแดง แสดงถึงการอักเสบรุนแรง
  • ข้อเข่าโก่งงอผิดรูป 
  • ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยยาทา ยารับประทาน หรือการทำกายภาพบำบัดได้อีกต่อไป

ผ่าตัดเข่าเสื่อมเพื่อรักษาข้อเข่า มีกี่ประเภท?

การผ่าตัดเข่าเสื่อมด้วยการใส่ผิวข้อเข่า หรือที่นิยมเรียกว่าการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม คือวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการใช้โลหะและวัสดุคุณภาพสูงมาแทนที่ผิวข้อเข่าเดิมที่เสื่อมสภาพ ช่วยให้ข้อเข่าสามารถกลับมาขยับเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงผิวข้อเข่าเดิมที่สุด ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมเป็นวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ดีที่สุด สามารถคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยได้อีกครั้ง

การผ่าตัดข้อเข่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

การผ่าตัดใส่ผิวข้อเข่าทั้งข้อ

การผ่าตัดใส่ผิวข้อเข่าทั้งข้อ (Total knee arthroplasty, TKA) เป็นวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าเดิมออกทั้งหมด แล้วแทนที่ด้วยโลหะและ วัสดุคุณภาพสูง เหมาะกับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรง มีบริเวณที่เสื่อมหลายจุด และเข่าโก่งงอจนผิดรูป ซึ่งวิธีนี้สามารถแก้ได้ทุกปัญหาของโรคข้อเข่าเสื่อม ทำให้ขาหายโก่งผิดรูป ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวที่เสียไป ลดความเจ็บปวดที่เกิดจากการสึกหรอของผิวข้อ ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้งานข้อเข่าได้ใกล้เคียงปกติอีกครั้ง 

รู้จักการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมทั้งข้อ อ่านต่อได้ที่ : TKA คือ

การผ่าตัดใส่ผิวข้อเข่าเฉพาะส่วน

การผ่าตัดใส่ผิวข้อเข่าเฉพาะส่วน (Unicompartment knee arthroplasty, UKA) เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยจะใช้ได้ในระยะแรกที่การเสียหายของผิวข้อยังเป็นเฉพาะจุด การรักษาจะจำกัดเฉพาะส่วน ด้วยการตัดเจียผิวข้อเข่าส่วนที่สึกกร่อนออกเท่านั้น แล้วแทนที่ด้วยโลหะและวัสดุคุณภาพสูงเช่นเดียวกับการใส่ผิวข้อทั้งหมด โดยที่ยังคงสภาพผิวข้อเข่าที่ดีไว้ดังเดิม เปรียบเสมือนกับการ อุดฟันเวลาที่เกิดฟันผุ 

การผ่าตัดใส่ผิวข้อเข่าเฉพาะส่วนจึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเข่าเสื่อมเฉพาะจุด และเนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่มีการตัดกระดูกเพียงบางส่วน และก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณเนื้อเยื่อรอบข้างน้อยกว่าการใส่ผิวข้อเข่าทั้งข้อมาก จึงใช้เวลาในการพักฟื้นน้อย มีความเจ็บปวดโดยรวมน้อย การใช้งานโดยรวมใกล้เคียงปกติมากกว่าด้วย

รู้จักการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน อ่านต่อได้ที่ : UKA คือ

ข้อดีและข้อจำกัดของการรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม

ผ่าตัดหัวเข่า

โรคข้อเข่าเสื่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมรุนแรง ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดในปัจจุบันคือการผ่าตัดเข่าเสื่อมด้วยใส่ผิวข้อเข่าเทียม ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีและข้อจำกัดดังต่อไปนี้

ข้อดีของการผ่าตัดเข่าเสื่อมด้วยการใส่ข้อเข่าเทียม

  • ลดอาการเจ็บปวดจากการที่เนื้อกระดูกมาชนกัน 
  • ลดอาการข้อติดจากกระดูกงอกภายในข้อ ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อ
  • ช่วยปรับให้ข้อที่เคยผิดรูปกลับมามีสภาพปกติ และรับน้ำหนักร่างกายได้ดีอีกครั้ง
  • ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น การเสื่อมของข้ออื่น ๆ ใกล้เคียง และลดการเกิดโรคจากภาวะการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดลง 
  • มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ในรายงานพบว่า เกิน 90% ของข้อเข่าเทียมอยู่ได้เกินกว่า 15 ปี ในกรณีที่ผ่าตัดใส่ผิวทั้งหมด

ข้อจำกัดของการผ่าตัดเข่าเสื่อมด้วยการใส่ข้อเข่าเทียม

  • ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมในผู้ที่มีประวัติติดเชื้อในข้อเข่าข้างนั้นมาไม่เกิน 6 เดือน และในผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อาจไม่เหมาะสมในผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวมานาน เช่นผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสาร หรือให้ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัดได้

การเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม

การเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมจะช่วยเพิ่มโอกาสให้การผ่าตัดราบรื่นมากขึ้น ซึ่งก่อนผ่าตัดเจ้าหน้าที่จะมาอธิบายวิธีเตรียมพร้อม ดังนี้

การเตรียมร่างกายก่อนผ่าตัด

  • งดยาและอาหารเสริมทุกชนิด โดยเฉพาะยาสมุนไพร กรณีที่เป็นยารักษาโรคใด ๆ ให้แจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาการงดยาเป็นรายบุคคล
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ดูแลสุขภาพให้พร้อม ไม่ให้มีการติดเชื้อก่อนการผ่าตัด เช่น การตรวจสุขภาพฟัน การควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน
  • งดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัดในระยะเวลาที่แพทย์แจ้งไว้

การจัดเตรียมสถานที่สำหรับพักฟื้นหลังผ่าตัด

สิ่งสำคัญนอกจากการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนผ่าตัดก็คือ การเตรียมความพร้อมภายในบ้านก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้หลังผ่าตัดสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพักฟื้น ซึ่งแนวทางการจัดเตรียมสถานที่สำหรับพักฟื้นมีดังนี้

  • เคลียร์พื้นที่ภายในบ้านให้โล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง พื้นมีระดับเท่ากัน ลดความเสี่ยงการสะดุดล้ม
  • จัดการเรื่องแสงไฟภายในบ้าน ให้มีแสงสว่างเพียงพอ
  • ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ และบริเวณชักโครกเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพยุงตนเองได้สะดวก
  • ควรจัดวางเก้าอี้ไว้ในห้องน้ำ เพื่อความสะดวกในการอาบน้ำของผู้ป่วย
  • หากเป็นไปได้ควรจัดที่สำหรับนอนพักไว้ที่ชั้นล่าง

ขั้นตอนการผ่าตัดเข่าเสื่อม 

ผ่าหัวเข่า

ขั้นตอนการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมเพื่อรักษาอาการโรคข้อเข่าเสื่อมมีดังต่อไปนี้

  • วิสัญญีแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึกก่อนเข้ารับการผ่าตัดเข่า ซึ่งอาจเป็นการดมยาสลบหรือการฉีดยาเข้าไขสันหลัง
  • ศัลยแพทย์ทำเปิดแผลบริเวณข้อเข่ายาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร ขึ้นกับขนาดเข่า เพื่อให้เห็นผิวข้อเข่าที่เสื่อมสภาพ
  • ทำการตัดผิวข้อเข่าที่เสื่อมสภาพออก ซึ่งความหนาและบริเวณที่ตัดผิวข้อเข่าออกขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการสึกกร่อน
  • นำข้อเข่าเทียมฝังเข้าไปแทนที่ ซึ่งวัสดุที่ใช้มีหลายแบบ ทั้งนี้แพทย์จะเลือกให้ตามความเหมาะสม
  • อาจมีการปรับแต่งเส้นเอ็นบริเวณรอบเข่าเพื่อคืนรูปเข่าให้ตั้งตรงและสามารถทำหน้าที่กระจายน้ำหนักได้ดีขึ้น

การผ่าตัดเข่าเสื่อมด้วยการใส่ข้อเข่าเทียมจะใช้เวลาอยู่ในห้องผ่าตัดประมาณ 90-120 นาที จากนั้นผู้ป่วยจะถูกส่งตัวมายังห้องพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการประมาณ 1-2 ชั่วโมง หากผู้ป่วยมีอาการคงที่ก็จะถูกส่งไปยังห้องพักผู้ป่วยต่อไป

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม 

หลังเข้ารับการผ่าตัดเข่าเสื่อมจะต้องดูแลตนเองตามข้อปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำดังต่อไปนี้

  • ใช้หมอนหนุนเข่าให้สูงเพื่อลดอาการปวดบวมจากเลือดคั่ง 
  • พยายามกระดกปลายเท้าขึ้นลงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด
  • สามารถประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมได้บ่อยตามต้องการ
  • ทำการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว และการใช้งาน โดยในช่วงแรกอาจจะมีนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์ แนะนำวิธีการบริหารกล้ามเนื้อและการฝึกลงน้ำหนักข้อเข่า และเริ่มฝึกเดินด้วยเครื่องช่วย พยุงเดิน (Walker) และสอนวิธีกายภาพบำบัดด้วยตนเองที่บ้าน
  • หากผู้ป่วยสามารถเดินด้วยเครื่องช่วยพยุงเดินได้คล่องและมั่นคงแล้ว ก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ตามดุลยพินิจของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม 

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ทำให้การผ่าตัดเข่าเสื่อมด้วยการใส่ข้อเข่าเทียมมีความปลอดภัย มากขึ้น อย่างไรก็ตามทุกการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยง ซึ่งอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดมีดังนี้

  • การติดเชื้อ 
  • ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน
  • การบาดเจ็บต่อเส้นเลือด เส้นประสาทที่สำคัญ
  • ข้อยึด หรือข้อไม่มั่นคง หลังผ่าตัด
  • การเกิดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือการติดเชื้อ พบน้อยมาก ซึ่งตามรายงานทั่วโลก โดยรวมพบไม่เกิน 2% ของผู้ป่วยที่ผ่าตัด ส่วนที่พบบ่อยกว่าคือการอุดตันของเส้นเลือดดำ จากการเคลื่อนไหวน้อยหลังผ่าตัด ทั้งนี้ปัจจุบันการดูแลก่อนและหลังผ่าตัดตามมาตรฐานของโรงพยาบาล สามารถลดอุบัติการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างมาก ในเรื่องการเกิดข้อยึดหรือไม่มั่นคง พบได้น้อย และอาจลดลงได้โดยการใช้คอมพิวเตอร์นำร่อง หรือการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

ผ่าตัดเข่าเสื่อม เพิ่มความคล่องตัวให้กับชีวิต ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า

โรคข้อเข่าเสื่อมจะไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตอีกต่อไปด้วยการผ่าตัดเข่าเสื่อม ใส่ข้อเข่าเทียม ที่สามารถแก้ปัญหาของโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า เราให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ให้บริการผ่าตัดเข่าเสื่อม ใส่ข้อเข่าเทียมด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมให้การดูแลตลอดการรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจนผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • Facebook : Praram 9 hospital
  • Line : @Praram9Hospital
  • โทร. 1270

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดเข่าเสื่อม

ผ่าตัดเข่าเสื่อม ต้องพักฟื้นกี่วัน?

หลังผ่าตัดเข่าเสื่อม ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลงน้ำหนักที่ข้อเข่าโดยใช้อุปกรณ์พยุงตัวภายใน 1 วัน ส่วนใหญ่จะเริ่มเดินช่วยเหลือตัวเองเข้าห้องน้ำได้ตั้งแต่แรก และจะค่อย ๆ ดีขึ้น จนสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้ดีขึ้นมากภายใน 3-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายก่อนผ่าตัดด้วยเช่นกัน

ข้อเข่าเทียม มีอายุการใช้งานนานแค่ไหน?

ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานข้อเข่าหลังผ่าตัด โดยปกติแล้วข้อเข่าเทียมจะมีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปี แต่หากหลังผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีการใช้งานหนักผิดปกติ หรือเกิดอุบัติเหตุ เกิดการติดเชื้อ ก็มีโอกาสที่อายุการใช้งานข้อเข่าเทียมจะสั้นลง

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำจากการผ่าตัดที่คลาดเคลื่อน ทำให้เกิดมีความไม่มั่นคงของข้อ หรือมีข้อยึดหลังผ่าตัด ทั้งนี้โอกาสจะเกิดปัญหาดังกล่าวสามารถลดลงด้วยการใช้คอมพิวเตอร์นำร่อง หรือการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

References

Benjamin Ma, C. (2024, August 27). Knee joint replacement. MedlinePlus.https://medlineplus.gov/ency/article/002974.htm

Mayo Clinic Staff. (2024, November 15). Knee replacement. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/knee-replacement/about/pac-20385276

Total Knee Replacement. (2024, February). OrthoInfo. https://orthoinfo.aaos.org/en/treatment/total-knee-replacement/

Chaiyakit, P. Hongku, N & Meknavin, S. (2009). A comparison of early clinical outcomes between computer assisted surgery and conventional technique in minimally invasive total knee arthroplasty. J Med Assoc Thai. 92-S6(S91-96). www.jmatonline.com/PDF/92-S6-PB-S91-S96.pdf

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

 

ศูนย์แพทย์

1200-กระดูกและข้อ

ศูนย์กระดูกและข้อ

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา