Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

โรคพาร์กินสัน มีลักษณะอาการแบบไหน สาเหตุคืออะไร รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง?

นพ.สิทธิ เพชรรัชตะชาติ

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 21 เมษายน 2025

หากพบว่าบุคคลในครอบครัว มีอาการมือสั่น แขนสั่น เคลื่อนไหวตัวช้า หรือเดินเซ อาจเป็นสัญญาณว่าท่านกำลังเผชิญอยู่กับ “โรคพาร์กินสัน” อยู่ก็เป็นได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนมักเข้าว่าโรคพาร์กินสันนั้นต้องเป็นในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความเป็นจริงโรคพาร์กินสันสามารถพบได้ในคนอายุน้อยเช่นกัน  ซึ่งโรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมองส่วนที่เรียกว่า Substantia Nigra ทำให้ไม่สามารถผลิตสารโดปามีน(Dopamine)ได้เพียงพอกับความต้องการของสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวร่างกาย และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจริงๆแล้วโรคพาร์กินสันนี้มีอาการแบบไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีแนวทางในการรักษาอย่างไรบ้าง สามารถหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้

Key Takeaways

  • โรคพาร์กินสัน คือ โรคที่เกิดจากสารโดปามีนในระบบประสาทลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ปรากฏเป็นอาการมือสั่น กล้ามเนื้อเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ก้าวเดินลำบาก หกล้มบ่อย หรืออาจมีอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่วมด้วย ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ท้องผูกเรื้อรัง นอนละเมอ รวมไปถึงการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • สาเหตุของโรคพาร์กินสันนั้นยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นได้จากการถ่ายทอดพันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้น การใช้ยาบางชนิด และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคพาร์กินสัน ได้แก่ การสัมผัสยาฆ่าแมลง อุบัติเหตุทางสมอง การดื่มนมวัวในปริมาณมาก เป็นต้น
  • โรคพาร์กินสัน สามารถแบ่งตามอาการได้เป็น 5 ระยะ เริ่มตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย จนไปถึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวหรือการทรงตัวลำบาก หกล้มง่ายขึ้น กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง และไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ในที่สุด 
  • การรักษาโรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้โดยการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ และหากมีการตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึกได้

สารบัญบทความ

  • โรคพาร์กินสันคืออะไร มีทั้งหมดกี่ระยะ?
  • ไขข้อสงสัย โรคพาร์กินสันเกิดจากสาเหตุอะไร?
  • อาการของโรคพาร์กินสันมีลักษณะแบบไหน?
  • โรคพาร์กินสันสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร?
  • โรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
  • โรคพาร์กินสันอาการป่วยทางระบบประสาทและสมองที่ไม่ควรมองข้าม
  • คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันคืออะไร มีทั้งหมดกี่ระยะ?

อาการโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน หรือ Parkinson’s Disease คือโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เป็นสัญญาณว่าระบบประสาทกำลังเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะในส่วนของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวของร่างกาย หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อ สารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเมื่อไหร่ที่สารเหล่านี้มีปริมาณที่ลดลงก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้าลง ทรงตัวได้ลำบาก อาการมือสั่น หรือก้าวเดินช้าลง เป็นต้น 

โดยอาการของโรคพาร์กินสันนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะด้วยกัน ดังนี้ 

  1. ระยะที่ 1 ผู้ป่วยพาร์กินสันจะรู้สึกว่าแขน มือ หรือนิ้วมือสั่นไหวเมื่อไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกาย และบางรายอาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา ลำตัวร่วมด้วย เขียนหนังสือตัวเล็กลง อาจเริ่มมีการเคลื่อนไหวช้าของแขนขา ในระยะนี้มักมีอาการไม่รุนแรงและมีอาการแค่เพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย 
  2. ระยะที่ 2 อาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย สังเกตได้จากอาการสั่นของมือ แขนที่เริ่มลามอีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง มีการแสดงสีหน้าลดลง พูดเสียงเบา ในระยะจะมีอาการเคลื่อนไหวร่างกายได้ช้า หรือเดินตัวโก่งไปข้างหน้า มีอาการหลังงอมากขึ้น
  3. ระยะที่ 3 ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการที่เคลื่อนไหวลำบาก และทรงตัวได้ยากมากขึ้น อาจหกล้มได้ง่าย หรือลุกขึ้นยืนลำบาก ทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้บ่อยครั้ง 
  4. ระยะที่ 4 ผู้ป่วยมักมีอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็งมากขึ้น มีการทรงตัวที่ไม่ดี มักไม่สามารถลุกยืนหรือเดินได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือคอยดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน 
  5. ระยะที่ 5 ถือเป็นระยะของโรคพาร์กินสันที่รุนแรงที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยมักจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายหรือช่วยเหลือตัวเองได้เลย ในระยะนี้ผู้ป่วยมักนอนติดเตียงหรือจำเป็นต้องใช้รถเข็นตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นปอดอักเสบ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือแผลกดทับได้

ไขข้อสงสัย โรคพาร์กินสันเกิดจากสาเหตุอะไร?

โรคพาร์กินสัน เกิดจาก

โรคพาร์กินสัน คือ โรคที่มีอาการสั่นบริเวณแขน ขา หรือศีรษะ  และมีการเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง ก้าวเดินลำบาก ซึ่งเป็นผลมาจากระบบประสาทเสื่อมสภาพและผลิตสารโดปามีน (Dopamine) ได้ลดลง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่ามีปัจจัยใดเป็นเหตุทำให้เกิดความเสื่อมดังกล่าว หรือโรคพาร์กินสันนั้นเกิดจากสาเหตุใด อย่างไรก็ดีมีข้อสันนิษฐานและงานวิจัยที่สนับสนุนเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสันว่าสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้  

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่สัมผัสกับยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช หรือสารเคมีที่มีส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง นักกีฬาที่อาจมีการกระทบกระเทือนต่อศีรษะรุนแรง เช่น นักมวย หรือ นักฟุตบอล  หรือพฤติกรรมการกินอาหารบางอย่างเช่น การดื่มนมวัวในปริมาณมาก ก็พบว่าเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันเช่นกัน

การถ่ายทอดทางพันธุกรรม สามารถเกิดขึ้นได้มากถึง 10—15% หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคพาร์กินสันมาก่อน ลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ มาก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โรคพาร์กินสันชนิดกรรมพันธุ์มักมีอาการตั้งแต่อายุน้อยก่อน 40 ปี 

ปัจจัยทางด้านอายุที่เพิ่มขึ้น หรือระบบประสาทและสมองเสื่อมสภาพไปตามวัย โดยมักพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในช่วง 50-65 ปีขึ้นไป 

ความผิดปกติทางสมอง ไม่ว่าจะเป็นภาวะสมองขาดออกซิเจน โรคเนื้องอกในสมอง ภาวะโพรงน้ำในสมองขยายตัว โรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง  ทำให้เกิดอาการคล้ายพาร์กินสันได้ แต่อาจไม่ใช่โรคพาร์กินสัน

การรับประทานยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ยาแก้อาเจียน กลุ่มยารักษาโรคทางจิตเวช ทำให้มีอาการคล้ายพาร์กินสันได้

อาการของโรคพาร์กินสันมีลักษณะแบบไหน?

การลดลงของสารโดปามีน (Dopamine) เนื่องจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมองส่งผลทำให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายแล้ว ยังส่งผลเสียด้านจิตใจ หรือสุขภาพร่างกายในด้านอื่น ๆ อีกด้วย โดยโรคพาร์กินสันมีอาการที่เด่นชัดดังนี้

อาการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

  • อาการแขนสั่น มือสั่น ขาสั่น
  • การเคลื่อนไหวร่างกายช้ากว่าปกติ
  • น้ำลายไหล กลืนน้ำและอาหาร สำลักบ่อย  
  • แสดงสีหน้าน้อยลง กะพริบตาน้อยลง 
  • พูดช้าลง เสียงเบากว่าปกติ พูดติดอ่าง พูดรัว 
  • ร่างกายแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก
  • เดินช้าลง เดินตัวงอ หรือมีลักษณะการเดินที่เท้าติดชิดกัน หรือเดินซอยเท้า
  • ไม่สามารถทรงตัวได้ หกล้มง่าย ลุกขึ้นยืนลำบาก 

อาการทางด้านจิตใจ

  • ภาวะซึมเศร้า
  • ภาวะวิตกกังวล
  • อาการประสาทหลอน 
  • อารมณ์แปรปรวน 

อาการอื่น ๆ

  • มีปัญหาทางด้านความคิด ไม่สามารถคิดคำ คิดประโยค หรือทำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ลำบากมากขึ้น
  • ความจำสั้น มีโอกาสเกิดความจำเสื่อม 
  • ความสามารถในการรับรู้กลิ่นและรสชาติอาหารลดลง 
  • ร่างกายอ่อนเพลียไม่มีแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • มีปัญหาด้านระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องอืดเรื้อรัง 
  • อาการวิงเวียนศีรษะ มึนงง โดยเฉพาะเมื่อลุกขึ้นยืน
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ 
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ ได้แก่ นอนไม่หลับ นอนกรน หรือ นอนละเมอ
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ 
  • น้ำหนักลดลงผิดปกติ 
  • ภาวะหย่อนสภาพทางเพศ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเพศชาย 

โรคพาร์กินสันสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร?

โรคพาร์กินสันมักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอายุ 50-65 ปีขึ้นไป ทำให้หลาย ๆ คนที่อายุยังไม่ถึงนั้นเกิดความชะล่าใจ และไม่ได้รับการตรวจคัดกรองโรคดังกล่าวแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงตามมาได้ 

วิธีการตรวจคัดกรองโรคพาร์กินสันเบื้องต้น ท่านสามารถตรวจสอบได้จากอาการดังต่อไปนี้ 

  • มีอาการมือสั่น แขน ขาสั่น
  • มีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง
  • มีอาการลุกขึ้นยืนลำบาก 
  • เดินซอยเท้าถี่ หรือก้าวเท้าสั้น ๆ 
  • เวลาเดินแกว่งแขนน้อยลง
  • เดินหลังงอมากขึ้น
  • เวลาเดินหมุนตัว หรือหันหลังได้ลำบาก
  • การเดินทรงตัวแย่ลง
  • พูดเสียงเบาลง ช้าลง 
  • เขียนหนังสือลายมือเปลี่ยน หรือเขียนตัวหนังสือเล็กลง
  • ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ช้าลง 
  • เปิดขวดน้ำ หรือกลัดกระดุมลำบากมากขึ้น 

หากท่านพบว่ามีอาการเหล่านี้หลายข้อ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาหรือกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม รวมไปถึงอาจแนะนำเรื่องการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด หรือ สแกนสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI)  เพื่อวินิจฉัยโรคและพิจารณาแนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

โรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง?

เนื่องจากโรคพาร์กินสันนั้นยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน จึงทำให้ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาด หรือป้องกันการเกิดโรคนี้ได้  ในปัจจุบันการรักษาพาร์กินสันจะมุ่งเน้นเพื่อบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นกว่าเดิมและช่วงชะลอการดำเนินโรคให้ช้าที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยการรักษาโรคพาร์กินสันทำได้ดังต่อไปนี้ั

  • การรักษาโดยการใช้ยารับประทาน ซึ่งเป็นการให้ยาเพื่อเพิ่มปริมาณสารโดปามีนในสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ levodopa, dopamine agonist, COMT-inhibitor และ MAO-B inhibitor เป็นต้น
  • การรักษาโดยให้ยาฉีดต่อเนื่องใต้ผิวหนัง (Apomorhine infusion) จะพิจารณาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ เช่น ยาหมดฤทธิ์ไว หรือมีผลข้างเคียงจากยารับประทาน
  • การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) จะพิจารณาใช้รักษาผู้ป่วยในกรณีที่มีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้การผ่าตัดไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค แต่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และสามารถลดการรับประทานยาลงได้ 50-70% ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
  • การจี้สมองส่วนลึกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้มข้นผ่านกระโหลกศีรษะ (MR-Guided Focused Ultrasound, MRgFUS) เป็นวิธีการรักษาล่าสุดที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัด สามารถใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันชนิดที่มีอาการสั่นเด่น (Tremor-dominant Parkinson’s) อย่างไรก็ดีในโรคพาร์กินสันชนิดอื่นๆยังไม่มีการรับรองการรักษาโดยวิธีนี้
  • การทำกายภาพบำบัด มุ่งเน้นช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วย เพื่อเพิ่มมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ และช่วยเรื่องการทรงตัว นอกจากการทำกายภาพบำบัดแล้ว การฝึกกิจกรรมบำบัด เช่นการฝึกกล้ามเนื้อขนาดเล็ก รวมไปถึงการฝึกกลืนและออกเสียง ก็มีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันเช่นกัน
  • การออกกำลังกาย แนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือตามที่สภาพร่างกายเอื้ออำนวย นอกจากนี้ควรเพิ่มการออกกำลังเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอจะสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคพาร์กินสันได้

โรคพาร์กินสันอาการป่วยทางระบบประสาทและสมองที่ไม่ควรมองข้าม 

โรคพาร์กินสัน เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มักมีอาการมือ แขน ขาสั่น เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก กล้ามเนื้อแข็งเกร็งผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโรคและให้การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคและทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยาวนาน  สำหรับท่านที่กังวลว่าตนเอง หรือคนที่คุณรักในครอบครัวกำลังเผชิญกับอาการของโรคพาร์กินสัน สามารถติดต่อเพื่อสำรองคิวเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระราม9 เพื่อตรวจวินิจฉัยให้มั่นใจและรักษาได้อย่างแม่นยำ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • Facebook : Praram 9 hospital  
  • Line : @Praram9Hospital
  • โทร. 1270

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน

1. ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน?

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันนั้น ได้แก่ ผู้สูงอายุ 50-65 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางสมอง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีอันตราย ผู้ที่มีประวัติใช้ยาจิตเวชหรือยาแก้วิงเวียนอย่างต่อเนื่องมานาน และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสันตั้งแต่อายุน้อย

2. ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันควรทานอะไร?

แนะนำให้ผู้ป่วยเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดการบริโภคเนื้อแดงและอาหารแปรรูป เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู  ไส้กรอก แฮม รวมไปถึงลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น นมสด เนย ชีส ซึ่งอาหารเหล่านี้มีหลักฐานงานวิจัยว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคพาร์กินสันได้  นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าการดื่มกาแฟดำ 2-4 แก้วต่อวันสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย

3. วัยรุ่นเป็นโรคพาร์กินสันได้ไหม?

วัยรุ่นสามารถเป็นโรคพาร์กินสันได้ แม้จะพบได้ค่อนข้างน้อยก็ตาม ส่วนมากมักเป็นโรคพาร์กินสันชนิดกรรมพันธ์ุหรือเป็นโรคกลุ่มอาการคล้ายพาร์กินสันที่มักมีอาการรุนแรง เช่น Wilson’s disease  ซึ่งถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้มีความพิการถาวรได้ ซึ่งถ้าหากสังเกตเห็นถึงสัญญาณอาการของโรคพาร์กินสัน ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด

References

Lees, AJ., Hardy, J., & Revesz, T. (2008, March 14). Parkinson’s disease. Journal of Neurology, Neurosurgery & Psychiatry, 79(4), 368–376. https://jnnp.bmj.com/content/79/4/368 

Parkinson’s disease. (n.d.). NINDS. https://www.ninds.nih.gov/health-information/disorders/parkinsons-disease 

Parkinson disease. (2023, August 9). WHO. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/parkinson-disease 

Parkinson’s disease. (2024, April 30). AANS. https://www.aans.org/patients/conditions-treatments/parkinsons-disease/ 

What is Parkinson’s?. (n.d.). APDA. https://www.apdaparkinson.org/what-is-parkinsons/

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

อ.สิทธิ

นพ.สิทธิ เพชรรัชตะชาติ

ศูนย์สมองและระบบประสาท

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

ศูนย์สมองและระบบประสาท

ศูนย์สมองและระบบประสาท

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา