Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

ไซนัสอักเสบ ปัญหากวนใจที่รักษาได้

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 10 พฤษภาคม 2024
ไซนัสอักเสบ

ใคร ๆ ก็เคยเป็นหวัด น้ำมูกไหลกันทั้งนั้น ซึ่งไข้หวัดจะป่วยอยู่ไม่กี่วันก็หายได้เอง แต่ในบางครั้ง บางคนอาจเป็นหวัดยาวนานเป็นอาทิตย์ ๆ หรืออาจนานจนเป็นเดือน ๆ คัดจมูกน้ำมูกไหลอยู่ตลอดไม่หายสักที ซึ่งนี่อาจไม่ใช่อาการของไข้หวัดธรรมดา แต่อาจเป็นอาการของไซนัสอักเสบ

สารบัญ

  • ไซนัสคืออะไร?
  • ไซนัสอักเสบคืออะไร?
  • อาการไซนัสอักเสบ
  • ไซนัสอักเสบ เกิดจากอะไร?
  • การวินิจฉัยไซนัสอักเสบ
  • ไซนัสอักเสบรักษาอย่างไร?
  • การป้องกัน
  • สรุป

ไซนัสคืออะไร?

ก่อนที่จะทำความเข้าใจเรื่องไซนัสอักเสบ เราต้องทราบก่อนว่าไซนัสคืออะไร? 

ไซนัส คือ โพรงอากาศขนาดเล็กในกระดูกกะโหลกศีรษะ โพรงอากาศเหล่านี้มีอยู่ด้วยกัน 4 ตำแหน่ง โดยวางตัวเป็นคู่ในฝั่งซ้ายและขวาของกะโหลกศีรษะ ดังนี้ 

  1. หน้าผาก 
  2. ระหว่างหัวตาและสันจมูก 
  3. หน้าแก้ม 
  4. ด้านหลังโพรงจมูก

ไซนัสเหล่านี้จะมีเยื่อบุภายในที่คอยผลิตมูก และมีรูเปิดเชื่อมต่อถึงกันกับโพรงจมูก ทำให้สามารถระบายมูกออกจากภายในไซนัส และช่องว่างเหล่านี้จะมีอากาศไหลเวียนภายใน โดยในทางวิวัฒนาการ ไซนัสมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ ช่วยให้กะโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบาลง ช่วยเพิ่มความก้องของเสียงที่เปล่งออกมา ช่วยป้องกันการกระแทกไม่ให้ถึงส่วนลึกของใบหน้า เป็นฉนวนป้องกันฐานสมองจากความร้อนเย็นภายนอก ช่วยเพิ่มอุณหภูมิและความชื้นให้กับลมหายใจเข้า นอกจากนั้น มูกที่เยื่อบุไซนัสผลิตออกมายังช่วยป้องกันการติดเชื้ออีกด้วย

> กลับสู่สารบัญ

ไซนัสอักเสบคืออะไร?

ไซนัสอักเสบ คือ การอักเสบของเยื่อบุภายในโพรงไซนัส ทำให้เยื่อบุบวมขึ้น และเกิดการคั่งของมูกภายในไซนัส โดยสาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ และ/หรือภูมิแพ้ 

ไซนัสอักเสบแบ่งได้เป็น 3 ชนิดตามระยะเวลาและสาเหตุของการติดเชื้อ ดังนี้

  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ มีอาการมาไม่เกิน 4 สัปดาห์ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
  2. ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน คือ มีอาการมานาน 1 ถึง 3 เดือน

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ มีอาการมานานกว่า 3 เดือน สาเหตุอาจเกิดจากแบคทีเรีย มีติดเชื้อราซ้ำซ้อน หรืออาจเป็นการอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้โดยไม่มีการติดเชื้อใด ๆ ก็ได้

> กลับสู่สารบัญ

อาการไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบมักเกิดหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ที่อาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงหลังจากเป็นมาแล้ว 7-10 วัน โดยอาการที่พบบ่อยของไซนัสอักเสบ มีดังนี้

  • ปวด บวม และกดเจ็บบริเวณของไซนัส (แก้ม หัวตา หรือหน้าผาก)
  • คัดจมูก รู้สึกตื้อแน่นในจมูก
  • มีน้ำมูกสีเขียวหรือเหลือง
  • ได้กลิ่นลดลง
  • มีไข้

โดยอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย:

  • ปวดหัว ปวดขมับ ปวดท้ายทอย หรือรู้สึกหนักไปทั้งหัว
  • ปวดฟัน
  • มีกลิ่นปาก หรือลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
  • ไอ
  • รู้สึกหูอื้อ
  • กรนขณะหลับ 
  • เสียงพูดขึ้นจมูก
  • ในเด็กเล็กอาจมีอาการหงุดหงิด งอแง กินได้น้อยลง และหายใจทางปาก

> กลับสู่สารบัญ

ไซนัสอักเสบ เกิดจากอะไร?

ไซนัสอักเสบมักเกิดตามหลังการเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากการติดเชื้อในช่วงแรกทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและบวม เมื่อการติดเชื้อลุกลาม จนทำให้เยื่อบุรูเปิดไซนัสอักเสบและบวมไปด้วย จึงทำให้รูเปิดไซนัสตีบแคบลง แต่การอักเสบทำให้เยื่อบุภายในไซนัสกลับผลิตมูกเพิ่มมากขึ้น จึงมีการคั่งของมูก เชื้อโรคไม่ถูกระบายออก จึงเกิดการติดเชื้อภายในและไซนัสอักเสบตามมา นอกจากการเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดไซนัสอักเสบ ดังนี้

  • ขนเส้นเล็ก ๆ (cilia) ภายในโพรงไซนัสซึ่งอยู่ส่วนบนสุดของเยื่อบุโพรงไซนัส ไม่สามารถทำหน้าที่พัดโบกขับมูกออกมาระบายสู่ภายนอกไซนัสได้ 
  • ไข้หวัดและภูมิแพ้ส่งผลให้มีการหลั่งน้ำมูกมากเกินไป และรูเปิดไซนัสตีบแคบหรืออุดตัน
  • มีความผิดปกติในโพรงจมูกที่เบียดบังรูเปิดไซนัส เช่น ภาวะผนังกั้นจมูกคด (deviated nasal septum) กระดูกงอกในโพรงจมูก (nasal bone spur) หรือริดสีดวงจมูก (nasal polyp) เป็นต้น โดยมีจุดสังเกตคือผู้ป่วยมักเป็นไซนัสอักเสบในฝั่งที่มีความผิดปกติเพียงข้างเดียว
  • การติดเชื้อที่ยาวนานเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุบวมและอักเสบมาก มูกข้นเหนียว

> กลับสู่สารบัญ

การวินิจฉัยไซนัสอักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกายด้วยการกดที่ตำแหน่งไซนัส การส่องดูภายในโพรงจมูก และ นอกจากนั้นยังมีการส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT sinus screening) ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าการส่งตรวจเอกซเรย์ธรรมดาเป็นอย่างมาก

> กลับสู่สารบัญ

ไซนัสอักเสบรักษาอย่างไร?

ด้วยความที่กายวิภาคของไซนัสเป็นโพรงอากาศในกระดูกที่มีรูเปิดเพียงรูเดียว เปรียบเหมือนถ้ำที่มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว เมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในนั้น การระบายเอาเชื้อโรคออกจึงทำได้ยาก ทำให้มีแนวโนมที่จะติดเชื้อเรื้อรัง หายยาก ไซนัสอักเสบจึงต้องอาศัยการรักษาที่มากกว่าไข้หวัดธรรมดาทั่วไป โดยแพทย์เฉพาะทางสำหรับโรคนี้ คือ แพทย์หู คอ จมูก (Ear Nose Throat; ENT) ซึ่งแนวทางการรักษาโรคไซนัสอักเสบมีดังนี้

การล้างจมูก

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยระบายมูกข้นเหนียวที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกและไซนัสออกมา เชื้อโรคและ/หรือสารก่อภูมิแพ้ก็จะถูกชะล้างไปด้วย จึงเป็นการรักษาทางกายภาพที่ตรงจุดและทำได้ง่าย ทำให้การอักเสบลดลง ผู้ป่วยรู้สึกโล่งสบายจมูกขึ้น แต่มีข้อควรระวังคือ 

  • ต้องใช้อุปกรณ์ล้างจมูกและน้ำเกลือสำหรับทำความสะอาดที่ปลอดเชื้อ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป 
  • ใช้อุปกรณ์ที่ล้างสะอาด และแห้งสนิทแล้วเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีการสะสมของเชื้อโรค
  • ไม่ใช้อุปกรณ์ล้างจมูกร่วมกับผู้อื่น แยกใช้ของใครของมันเท่านั้น
  • ควรล้างจมูกเฉพาะเมื่อมีอาการ เพราะการล้างจมูกบ่อยเกินไปอาจรบกวนการสร้างมูกที่ดีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

การรักษาด้วยยา

  1. ยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดน้ำมูก (antihistamines) ยาหดหลอดเลือด (decongestant) เพื่อลดการคัดจมูก เป็นต้น
  2. ยาปฏิชีวนะ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
  3. ยาลดการอักเสบ ในผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือยากิน
  4. หากมีการติดเชื้อราหรือมีความผิดปกติในโพรงจมูก การใช้ยาเพียงอย่างเดียวมักไม่ได้ผล จะต้องมีการรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย

การรักษาด้วยการผ่าตัด

ไซนัสอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา กลับเป็นซ้ำบ่อยครั้ง มีการติดเชื้อรา หรือมีสาเหตุจากภาวะผิดปกติในโพรงจมูก จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อแก้ไข โดยในปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีการผ่าตัดที่ได้ผลดี ปลอดภัย และใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

การผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอนโดสโคป (functional endoscopic sinus surgery; FESS) เป็นการส่องกล้องเข้าไปทางรูจมูก เพื่อผ่าตัดขยายรูเปิดไซนัสให้กว้างขึ้น ทำให้ระบายมูกออกไปได้ดี นอกจากนั้นยังสามารถผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ และแก้ไขความผิดปกติในโพรงจมูกที่เป็นสาเหตุของโรคได้ในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนี้จำเป็นต้องมีการวางยาสลบ แต่มีข้อดี คือ ไม่มีแผลผ่าตัดภายนอกให้เห็น เพราะเป็นการส่องกล้องเข้าไปทางรูจมูก

> กลับสู่สารบัญ

การป้องกัน

การป้องกันไซนัสอักเสบที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ หรือหากป่วยแล้วก็ให้พักผ่อนเพื่อดูแลรักษาให้หายเร็วที่สุด ไม่ฝืนร่างกาย หรือหักโหมทำงานจนปล่อยให้เป็นหวัดอยู่นาน โดยมีแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไซนัสอักเสบ ดังนี้

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
  2. ล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ 
  3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่
  4. หากเป็นภูมิแพ้ ควรพบแพทย์เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้และควบคุมอาการให้สงบโดยเร็วที่สุด
  5. เลี่ยงควันบุหรี่ มลภาวะ และฝุ่น PM2.5 
  6. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพื่อการขับมูกในโพรงไซนัสที่เป็นปกติ
  7. ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ 
  8. หากเป็นหวัดและมีอาการคัดจมูก ควรใช้ยาหดหลอดเลือด (decongestant) เพื่อลดการคัดจมูกแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดโอกาสการตีบตับของรูเปิดไซนัส
  9. หากอยู่ในห้องแอร์ทั้งวันทั้งคืน ควรระวังไม่ให้อากาศแห้งจนเกินไป 

> กลับสู่สารบัญ

สรุป

ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย และหายช้ากว่าไข้หวัดทั่วไปอย่างมาก ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเฉียบพลันอาจเป็น ๆ หาย ๆ อยู่หลายครั้งในหนึ่งปี ในขณะที่ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรัง แม้ว่ามักจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า แต่ผู้ป่วยจะต้องทนกับอาการเช่นนั้นอยู่เป็นเดือน ๆ ไม่หายสักที การรักษาไซนัสอักเสบจึงต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ถูกต้อง และนำไปสู่การรักษาให้หายขาดได้ในที่สุด

คลิกดูแพ็กเกจที่เกี่ยวข้องที่นี่

ตรวจคัดกรองไซนัสอักเสบ CT Sinus Screening

รายละเอียด

โปรแกรมผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอนโดสโคป

รายละเอียด

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจการได้ยินโดยละเอียด

รายละเอียด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

สนใจนัดหมาย

> กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

 

ศูนย์แพทย์

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา