Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

ก่อนการปลูกถ่ายไตต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

พญ.สุธานิธิ เลาวเลิศ

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 15 พฤษภาคม 2023
การเตรียมตัวก่อนการปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไตเป็นทางเลือกการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ เพราะหลังผ่าตัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจะดีขึ้นโดยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยไตที่นำมาเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยอาจนำมาจากผู้บริจาคที่มีชีวิตที่เป็นญาติที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือนำมาจากไตของผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย โดยก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องได้รับการการตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือดและเนื้อเยื่อระหว่างผู้รับไตและผู้บริจาคไตอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไตหลังจากปลูกถ่าย ซึ่งในระหว่างรอรับบริจาคไต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะต้องดูแลตนเองให้แข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดเพื่อให้การปลูกถ่ายไตนั้นประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์สูงสุด

สารบัญ

  • ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแบบไหนบ้างที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไต
  • ไตที่นำมาปลูกถ่ายมาจากไหนได้บ้าง?
  • ไตที่บริจาคจากผู้มีชีวิตมีหลักการคัดเลือกอย่างไร? 
  • ผู้บริจาคไตที่มีชีวิตต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
  • ข้อดีของการได้ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต 
  • การขอยกเลิกการบริจาคไตและรับบริจาคไต (จากผู้บริจาคไตที่มีชีวิต) 
  • การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต
  • การเตรียมตัวของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังก่อนการปลูกถ่ายไตจากผู้มีชีวิต
  • ไตจากผู้บริจาคที่สมองตายได้มาอย่างไร?
  • การขึ้นทะเบียนขอรับไตจากผู้บริจาคที่สมองตาย ต้องทำอย่างไรบ้าง?
  • ระหว่างรอคอยการจัดสรรไตจากผู้บริจาคที่สมองตาย ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
  • เมื่อได้รับการติดต่อให้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
  • การตรวจการเข้ากันได้ของหมู่เลือดและเนื้อเยื่อ
  • สรุป

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแบบไหนบ้างที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไต (recipient) ได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 15%
  • กรณีที่รอรับไตจากผู้ป่วยสมองตายจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจะต้องได้รับการรักษาโรคไตวายด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตทางช่องท้องด้วยน้ำยามาอย่างต่อเนื่อง จึงจะมีสิทธิได้รับบริจาคไต
  • ไม่มีภาวะติดเชื้อใดๆ ไม่เป็นผู้ที่ติดเชื้อ HIV
  • ไม่เป็นโรคตับแข็งชนิดที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไตได้
  • ไม่เป็นโรคมะเร็งหรือ หากเคยเป็นโรคมะเร็งต้องที่ได้รับการรักษาให้ที่หายขาดมาแล้วอย่างน้อย 2 – 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
  • ไม่มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเข้ารับการผ่าตัด เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว เป็นต้น
  • ไม่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ไม่มีภาวะจิตใจผิดปกติ
  • ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด
  • กรณีอื่น ๆ อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

> กลับสู่สารบัญ

ไตที่นำมาปลูกถ่ายมาจากไหนได้บ้าง?

ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มาจาก 2 กรณีดังนี้

  1. ไตที่บริจาคจากผู้มีชีวิต โดยจะมาจากญาติสายตรง ญาติที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือสามี-ภรรยา โดยผู้บริจาคไตต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด
  2. ไตที่บริจาคจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย โดยจะเป็นการจัดสรรโดยสภากาชาดไทย

> กลับสู่สารบัญ

ไตที่บริจาคจากผู้มีชีวิตมีหลักการคัดเลือกอย่างไร?

การคัดเลือกผู้บริจาคไตที่มีชีวิต แบ่งได้เป็น 3 กรณี ดังนี้

1. กรณีผู้บริจาคเป็นเครือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม

  • บิดามารดา บุตรหรือธิดาตามธรรมชาติ พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน ที่สามารถพิสูจน์ได้ทางกฏหมายหรือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น HLA และ/หรือ DNA จากบิดามารดา
  • ลุง ป้า น้า อา หลาน ที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเดียวกันหรือครึ่งหนึ่ง ลูกพี่ลูกน้องในลำดับแรก หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมครึ่งหนึ่ง เช่น พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ในกรณีนี้จะต้องพิสูจน์ว่า ผู้บริจาคและผู้รับอวัยวะมี HLA และ/หรือ DNA ที่มีความสัมพันธ์กัน

2. กรณีผู้บริจาคเป็นสามีภรรยา

  • สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) หรืออยู่กินฉันสามีภรรยาโดยเปิดเผยกับผู้รับบริจาคมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี 
  • ในกรณีที่มีบุตรร่วมกันโดยสายเลือดจะไม่ต้องใช้ระยะเวลา 3 ปี หากมีปัญหาในการพิสูจน์บุตรร่วมกันให้ใช้ DNA เป็นเครื่องพิสูจน์

3. กรณีผู้บริจาคเป็นชาวต่างประเทศที่เป็นเครือญาติ หรือสามีภรรยา

  • ต้องเตรียมเอกสารยืนยันการเป็นเครือญาติหรือสามีภรรยา ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากสถานฑูตหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ของประเทศของผู้มาร้องขอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ และได้รับการรับรองด้านความถูกต้องของผู้ออกเอกสารจากกรมกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
  • ต้องมีการพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยวิธี HLA และ DNA หรือวิธีอื่น ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ ที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกันจากสถาบันทางการแพทย์ของรัฐในประเทศไทย

> กลับสู่สารบัญ

ผู้บริจาคไตที่มีชีวิตต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?

คุณสมบัติของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต

  • ต้องเป็นญาติโดยสายเลือด (genetic related) หรือคู่สมรสตามกฏหมายข้อบังคับแพทยสภา
  • มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 60 ปี ถ้าอายุมากกว่า 60 ปี ต้องมีสภาพร่างกายแข็งแรงตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ไม่มีภาวะความดันสูง (ค่าความดันตัวบนไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท)
  • ไม่มีโรคเบาหวาน
  • ไม่มีประวัติเป็นโรคไตเรื้อรัง
  • มีค่าโปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน 300 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง หรืออัลบูมินในปัสสาวะ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง
  • มีค่าอัตราการกรองของไตมากกว่า 90 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ถ้าอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 90 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร แต่มากกว่า 70 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร สามารถบริจาคได้ แต่ควรพิจารณาความเสี่ยงอื่นร่วมด้วย
  • ไม่มีภาวะอ้วน
  • ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงทางอายุรกรรม เช่น ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะหัวใจขาดเลือด มะเร็ง โรคตับอักเสบ โรคตับวายร้ายแรง เป็นต้น
  • ไม่มีภาวะติดเชื้อในร่างกาย ไม่มีการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อ HIV
  • ไม่ติดยาเสพติด
  • ไม่ป่วยด้วยโรคจิตหรือโรคประสาทบางประเภท
  • ต้องไม่เป็นการซื้อขายไต
  • ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคสามารถยกเลิกการบริจาคได้ตลอดเวลา

> กลับสู่สารบัญ

ข้อดีของการได้ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต

  • ผู้รับบริจาคไตจากผู้มีชีวิตจะมีอายุการใช้งานไตมากกว่า อายุยืนกว่า
  • การผ่าตัดสามารถกำหนดเวลาได้ ทำให้มีเวลาเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
  • อาจใช้ยากดภูมิต้านทานและยาอื่น ๆ น้อยกว่า ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า

> กลับสู่สารบัญ

การขอยกเลิกการบริจาคไตและรับบริจาคไต (จากผู้บริจาคไตที่มีชีวิต)

  • ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคสามารถตัดสินใจยกเลิกการบริจาคไตได้ทุกเวลาและทุกขั้นตอนโดยไม่มีเงื่อนไข 
  • ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคสามารถบอกยกเลิกผ่านทางแพทย์หรือทีมงานผู้เกี่ยวข้องได้ทุกคน 
  • ถ้าต้องการให้คณะทีมงานเป็นผู้แจ้งการยกเลิกให้ผู้รับบริจาคทราบ ทางทีมงานก็ยินดีช่วยจัดการให้ 
  • ทางแพทย์และทีมงานให้ความเคารพต่อสิทธิและความประสงค์ของทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเสมอ

> กลับสู่สารบัญ

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต

ลำดับขั้นตอนในการเตรียมการผ่าตัด

  • รับการตรวจร่างกายและทดสอบสภาพจิตใจของผู้บริจาค โดยทำการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ และทดสอบสภาพจิตใจโดยจิตแพทย์ เพื่อประเมินความพร้อมในการบริจาคอวัยวะ โดยผู้บริจาคต้องไม่ถูกบังคับ หรือได้รับอามิสสินจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นทรัพย์หรือผลประโยชน์อย่างอื่นอย่างใด
  • ต้องได้รับการอธิบายอย่างละเอียดจากแพทย์และทีมงานปลูกถ่ายไตจนเข้าใจถึง ข้อดี ข้อเสีย และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างผ่าตัด หลังผ่าตัด รวมทั้งผลกระทบด้านร่างกายและจิตใจที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จนผู้บริจาคเข้าใจอย่างถี่ถ้วนแล้ว
  • ผู้บริจาคไตทุกคนจะได้พบ ปรึกษา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริจาคไตจากผู้ที่เคยผ่านการบริจาคไตมาแล้วในอดีต (advocate) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีจากผู้ที่ผ่านการบริจาคมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลจะมีรายชื่อกลุ่มผู้บริจาคในอดีตที่ยินดีมาให้คำแนะนำปรึกษา
  • มีการตรวจสอบเอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเพื่อยืนยันความเป็นญาติกันจริง ในกรณีที่ไม่สามารถยืนยันความสัมพันธ์กันได้ ต้องมีการตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรมเพิ่มเติม
  • มีการนัดเจาะเลือด เพื่อตรวจชนิดของเนื้อเยื่อ HLA typing หรือ DNA และการผสมเลือด lymphocyte crossmatch เพื่อทดสอบการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ
  • มีการประชุมกันของคณะกรรมการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อความโปร่งใสในการบริจาคอวัยวะ รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางกฏหมายจนเป็นที่เรียบร้อย และได้รับมติอนุมัติให้ดำเนินการปลูกถ่ายไตโดยคณะกรรมการปลูกถ่ายไตของโรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการปลูกถ่ายไตในโรงพยาบาลพระรามเก้าให้มีความเรียบร้อยถูกต้องตามมาตรฐานจริยธรรมของการปลูกถ่ายอวัยวะ (ตามระเบียบสภากาชาดไทย ว่าด้วยศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย พ.ศ. 2545) การผ่าตัดปลูกถ่ายไตทุกราย ต้องได้รับการอนุมัติให้สามารถทำการปลูกถ่ายไตได้
  • ก่อนการผ่าตัดจะมีการฉีดสีดูหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต เพื่อเลือกข้างของไตที่จะทำการผ่าตัดบริจาคให้ผู้รับบริจาค
  • ขั้นตอนสุดท้ายจะมีการกำหนดการผ่าตัดปลูกถ่ายไตตามความพร้อมของผู้ป่วย

ก่อนการผ่าตัดนำไตออก ผู้บริจาคไตจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาล 1 วัน

ก่อนการผ่าตัด ผู้บริจาคไตจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาลก่อนวันผ่าตัด  1 วัน โดยวัตถุประสงค์เพื่อ

  • ให้แพทย์และทีมงานประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจก่อนการผ่าตัด
  • หากเกิดความไม่แน่ใจหรืออุปสรรคต่าง ๆ การผ่าตัดจะถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาค 
  • หากผู้บริจาคมีข้อสงสัยหรือคำถามค้างคาใจก็จะสามารถสอบถาม พูดคุยกับทางทีมงานได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนการผ่าตัด และได้รับการพักผ่อนเต็มที่เพื่อการผ่าตัดในวันถัดไป

> กลับสู่สารบัญ

การเตรียมตัวของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังก่อนการปลูกถ่ายไตจากผู้มีชีวิต

การเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด

  • ผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา และความพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงปกติมากที่สุด
  • เป็นนโยบายของโรงพยาบาล ที่จะต้องให้ผู้รับบริจาคไตจากผู้มีชีวิต (recipient) ทุกคนได้พบกับผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายไตจากญาติพี่น้องมาแล้ว (advocate) ที่มาเป็นอาสาสมัครด้วยความเต็มใจ โดยจะให้คำปรึกษา แนะนำและเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ในอดีต ทั้งก่อนและหลังการปลูกถ่ายไต ผู้รอรับบริจาคสามารถสอบถามปัญหาและขอคำแนะนำต่าง ๆ อย่างเป็นส่วนตัวได้ทุกรูปแบบจากอาสาสมัคร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเข้าใจกระบวนการปลูกถ่ายไต ซึ่งจะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

การเข้ามาพักในโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาล 1 วันก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อให้แพทย์ได้เตรียมความพร้อม ดังนี้

  • ซักประวัติและประเมินสภาพร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ซักประวัติและการดูแลผู้ป่วยโดยทีมพยาบาล โภชนาการ และเภสัชกร
  • ตรวจตัวอย่างเลือดและปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ
  • เอกซเรย์ทรวงอก
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • เตรียมความสะอาดของร่างกาย โดยอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อชนิดพิเศษ
  • โกนขนบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
  • ให้สารน้ำทางหลอดเลือด
  • อาจจะต้องฟอกเลือด ขึ้นอยู่กับว่าฟอกเลือดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
  • รับประทานยากดภูมิคุ้มกันชุดแรกหรือให้ยาทางหลอดเลือดดำ

> กลับสู่สารบัญ

ไตจากผู้บริจาคที่สมองตายได้มาอย่างไร?

การได้มาของไตจากผู้บริจาคที่สมองตายจะเป็นไปตามกฏหมายข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 หมวดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยะ และตามประกาศแพทยสภาที่ 7/2554 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายและตามหลักเกณฑ์ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดเป็นผู้คัดสรรผู้ป่วยไตวายที่รอรับบริจาคโดยใช้หลักการจัดสรรทางการแพทย์

> กลับสู่สารบัญ

การขึ้นทะเบียนขอรับไตจากผู้บริจาคที่สมองตาย ต้องทำอย่างไรบ้าง?

ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับบริจาคไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โดยจะแบ่งตามชนิดของหมู่เลือดและความเหมือนกันของเนื้อเยื่อ เมื่อได้รับบริจาคไตมา ผู้ป่วยที่มีหมู่เลือดเข้ากับผู้บริจาคทั้งหมดจะถูกทดสอบว่าเนื้อเยื่อเข้ากันได้หรือไม่ หากไม่มีแอนติบอดี้ก็สามารถปลูกถ่ายไตได้ 

รายชื่อผู้ป่วยทั้งหมดจะถูกนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการให้คะแนนเพื่อให้แน่ใจว่าได้เลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมที่สุดให้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการรอขึ้นบัญชีรับบริจาคด้วย ซึ่งคณะกรรมการจะมีการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ โปร่งใสและยุติธรรม

> กลับสู่สารบัญ

ระหว่างรอคอยการจัดสรรไตจากผู้บริจาคที่สมองตาย ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?

การเตรียมร่างกายและจิตใจของผู้รับบริจาคให้พร้อมระหว่างการรอคอยไตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายมีความแข็งแรงพอที่จะปลูกถ่ายไตและไม่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เสี่ยงและอันตรายต่อการผ่าตัด หากตรวจพบปัญหาสุขภาพใด ๆ จะต้องได้รับการแก้ไขก่อนการผ่าตัด หรือบางครั้งอาจต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการรักษารูปแบบอื่นแทนการปลูกถ่ายไต 

นอกจากผู้ป่วยควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดอยู่เสมอแล้ว ควรเตรียมจิตใจให้มีทัศนคติและความรู้สึกที่ดีต่อไตใหม่ที่จะได้รับ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงของการรอคอยนี้ ผู้ป่วยอาจมีความกดดันและเคร่งเครียด การศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะสามารถช่วยให้คลายความเครียดได้

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคไตที่สมองตายมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

  • ตรวจร่างกายผู้รอรับบริจาคไต
  • ลงทะเบียนรอรับบริจาคไต
  • ส่งตัวอย่างเลือด เป็นประจำทุกเดือน
  • ตรวจ HLA typing ในครั้งแรกเพื่อลงทะเบียนชื่อเข้ารับไต (ตรวจครั้งเดียว) และตรวจ PRA ทุก 3 เดือน เพื่อดูโอกาสการต่อต้านไต เป็นประจำทุก 3 เดือน
  • ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • มีการยินยอมรับการรักษาโดยแพทย์ ในกรณีที่มีความผิดปกติทางร่างกายที่ต้องแก้ไข
  • เป็นนโยบายของโรงพยาบาลพระรามเก้าที่ผู้รับบริจาคทุกคนต้องได้พบกับผู้ป่วยที่เคยได้รับการปลูกถ่ายไตจากผู้ป่วยสมองตาย (advocate) ที่เป็นอาสาสมัครด้วยความเต็มใจมาให้คำปรึกษาหรือเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต ผู้รอรับบริจาคสามารถสอบถามปัญหาและข้อแนะนำได้ทุกรูปแบบจากอาสาสมัครอย่างเป็นส่วนตัว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเข้าใจในกระบวนการปลูกถ่ายไตเพื่อประโยชน์สูงสุดในการปลูกถ่ายไต

การรับประทานอาหารระหว่างรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ระหว่างการรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับโรค เช่น ถ้าเป็นโรคเบาหวานและได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดอยู่ สามารถขอคำแนะนำการรับประทานอาหารได้จากโภชนากร ซึ่งโภชนากรจะสามารถให้ความช่วยเหลือในการกำหนดอาหารที่จะให้พลังงานกับร่างกาย พร้อมกับการควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด

การออกกำลังกายระหว่างรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน เพราะนอกจากจะทำให้มีรูปร่างดี หัวใจ ปอด กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้ร่ายกายฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น และช่วยผ่อนคลายความเครียด ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมได้จากทีมงานด้านการออกกำลังกาย

การเข้าร่วมกิจกรรมและสนทนากับบุคคลใกล้ชิด

ผู้ป่วยอาจมีความเครียดวิตกกังวลระหว่างรอการผ่าตัด การใช้เวลาและการพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อน ๆ อาจช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียดได้ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเศร้าหรือท้อแท้ก็อาจส่งผลกระทบทำให้คนใกล้ชิดไม่มีความสุขไปด้วย 

การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะช่วยให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดผ่อนคลายความวิตกกังวล ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นและสามารถควบคุมสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ การอ่านหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตและตั้งคำถาม การมีทัศนคติที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญขณะรอคอยการผ่าตัดและการใช้ชีวิตใหม่หลังการผ่าตัด

การดูแลครอบครัว

หากผู้ป่วยมีครอบครัว คู่สมรส ลูก ๆ หรือผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ให้วางแผนการดูแลพวกเขาเหล่านี้เมื่อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

การเตรียมความพร้อมเพื่อรอรับการติดต่อจากโรงพยาบาล

พยาบาลประสานงานการผ่าตัดอาจมีการโทรติดต่อมาหาผู้ป่วยได้ตลอดเวลา เพื่อให้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องเตรียมความพร้อม ดังต่อไปนี้

  • ควรแน่ใจว่าทีมงานผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ควรแจ้งให้ทีมงานทราบ
  • เตรียมบัญชีรายการที่ต้องทำเมื่อได้รับการติดต่อ ควรแน่ใจว่าบัญชีรายการนั้นเก็บไว้ในที่ที่หาได้ง่าย
  • ทำรายการสิ่งของที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาล จะดีมากถ้ามีการเก็บสัมภาระเตรียมพร้อมสำหรับเดินทาง
  • วางแผนการเดินทางไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • ปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

> กลับสู่สารบัญ

เมื่อได้รับการติดต่อให้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?

การปฏิบัติตัวเมื่อได้รับการติดต่อให้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย

  • งดรับประทานอาหาร น้ำ หรือเครื่องดื่มใด ๆ ทันที
  • อาบน้ำ สระผม ก่อนมาโรงพยาบาล
  • ไปโรงพยาบาลทันทีที่ได้รับแจ้งว่ามีสิทธิ์ที่จะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตพร้อมกับกระเป๋าเครื่องใช้ที่เตรียมไว้
  • เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจต่าง ๆ ก่อนการผ่าตัด เช่น ตรวจสุขภาพทั่วไป (วัดความดัน, วัดชีพจร, วัดไข้, และชั่งน้ำหนัก) เจาะเลือด เอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 
  • พยาบาลจะดูแลผู้ป่วยให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและโกนขนบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
  • ประเมินทำการฟอกเลือดอีกครั้งก่อนผ่าตัดปลูกไต โดยขึ้นอยู่กับระดับของเสียในเลือดและน้ำหนักตัว เพื่อกำจัดของเสียและของเหลวต่าง ๆ ในเลือดที่มีมากเกินไปออก
  • แพทย์จะให้ยากดภูมิคุ้มกันก่อนการผ่าตัด
  • ศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะนำซีรัมของผู้ป่วยที่ส่งมาเก็บไว้ทุกเดือน มาตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อระหว่างผู้รับบริจาคและผู้บริจาค ในระหว่างที่รอผลการตรวจอาจใช้เวลานาน 6 – 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรทำจิตใจให้สงบและสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้ 
  • ศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์จะมาพบผู้ป่วยที่จะรับบริจาคเพื่ออธิบายขั้นตอนและความเสี่ยงในการผ่าตัด และผู้ป่วยจะต้องลงชื่อในหนังสือยินยอมเข้ารับการผ่าตัด

ความผิดหวังเมื่อไม่ได้รับไต

มีความเป็นไปได้ที่เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้วไม่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ เนื่องจากร่างกายอาจไม่สมบูรณ์เพียงพอหรือมีอุปสรรคอื่น ๆ โดยจะมีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลเสมอว่าทำไมผู้ป่วยจึงไม่ได้รับบริจาคไต แม้จะรู้สึกผิดหวัง แต่ควรสงบสติอารมณ์ อย่าหมดกำลังใจ เรียนรู้และทำใจให้สบาย ผู้ป่วยอาจได้รับการติดต่อเพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่อีกครั้งในไม่ช้า

> กลับสู่สารบัญ

การตรวจการเข้ากันได้ของหมู่เลือดและเนื้อเยื่อ

การเข้ากันได้ของหมู่เลือดและเลือด

ในกรณีขอรับไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต จะยึดเกณฑ์ของหมู่เลือดที่เข้ากันได้ หรือตรงกัน ดังนี้

หมู่เลือดของผู้ป่วยหมู่เลือดของผู้บริจาคไต
โอ (O)โอ (O)
เอ (A)เอ (A) หรือ โอ (O)
บี (B)บี (B) หรือ โอ (O)
เอบี (AB)เอบี (AB), เอ (A), บี (B) หรือ โอ (O)

ในกรณีขอรับไตจากผู้บริจาคสมองตาย ศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จะพิจารณาจ่ายไตให้ในกรณีที่หมู่เลือดของผู้ป่วยที่รอรับบริจาคไต ตรงกันกับหมู่เลือดของผู้บริจาคไตเท่านั้น ดังนี้

หมู่เลือดของผู้ป่วยหมู่เลือดของผู้บริจาคไต
โอ (O)โอ (O)
เอ (A)เอ (A)
บี (B)บี (B)
เอบี (AB)เอบี (AB)

การเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ

  • การตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อจะใช้วิธี HLA typing และการตรวจ DNA เพื่อดูการเข้ากันได้ทางพันธุกรรม 
  • หากสามารถกำหนดจำนวนยีนที่สามารถใช้ร่วมกันได้มีมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับไตได้มากเท่านั้น ไตใหม่จะสามารถอยู่ได้นานขึ้น
  • นอกจากนี้ยังมีการตรวจผสมเลือด lymphocyte crossmatch ซึ่งมีความสำคัญมาก เป็นวิธีตรวจเพื่อให้ทราบว่าผู้รับบริจาคไตมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเซลล์เม็ดเลือดของผู้บริจาคอย่างไร

ตัวอย่างเลือดของผู้บริจาคไตจะถูกผสมกับเลือดของผู้รับบริจาคไตซึ่งจะต้องไม่มีปฏิกิริยาต่อกัน วิธีนี้เป็นการคาดคะเนว่าผู้รับบริจาคไตจะมีปฏิกิริยาต่อไตของผู้บริจาคหรือไม่ ถ้าผลการตรวจเป็นลบ หมายความว่า ผู้รับบริจาคไตไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเซลล์ของผู้บริจาคก็จะสามารถปลูกถ่ายไตได้ โอกาสความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตก็จะมากด้วย

> กลับสู่สารบัญ

สรุป

การผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นทางเลือกในการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ทำโดยการนำไตที่ได้รับบริจาคจากญาติที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดหรือจากสามีภรรยาที่ถูกต้องทางกฏหมายมาเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยข้างไดข้างหนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีผู้บริจาค ผู้ป่วยสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการบริจาคไตจากผู้ป่วยสมองตายจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทั้งผู้รับบริจาคและผู้บริจาคไตต้องมีการเตรียมตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องมีการตรวจความสมบูรณ์แข็งแรงของสภาพร่างกาย ตรวจสอบเอกสารยืนยันการเป็นญาติสายตรงหรือการเป็นสามีภรรยา ที่สำคัญคือ การตรวจสอบความเข้ากันได้ของหมู่เลือดและเนื้อเยื่อ เพื่อให้การผ่าตัดปลูกถ่ายไตนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและได้รับผลประโยชน์สูงสูด และป้องกันการปฏิเสธไต

ในกรณีที่รอรับบริจาคไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ผู้รอรับบริจาคไตต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลก็ต้องพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยทันที ดังนั้น ผู้รอรับบริจาคไตจึงต้องดูแลตนเองให้แข็งแรงและปฏิบัติตนตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสามารถทำได้มากกว่า 1 ครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นการปลูกถ่ายไตซ้ำขึ้นอยู่กับความเหมาะสมซึ่งต้องมีการประเมินอย่างละเอียดจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

สนใจนัดหมาย

> กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

พญ.สุธานิธิ เลาวเลิศ

พญ.สุธานิธิ เลาวเลิศ

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

บทความอื่นๆ

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร กับปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้ รักษาเร็ว ฟื้นตัวไว

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

อ่านเพิ่มเติม
ผ่าตัดไส้เลื่อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

อ่านเพิ่มเติม
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้หญิงควรรู้! เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Doctor’s Health Insights
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา